Blog Archives


ชุด๒-ภาพที่๗-คนตัดหญ้าชื่อโสตถิยะถวายหญ้า

ภาพคนตัดหญ้าชื่อโสตถิยะ ถวายหญ้า ๘ กำ พระโพธิสัตว์ทรงรับหญ้านั้นและวางหญ้าลงที่ควงโพธิพฤกษ์ เกิดเป็นบัลลังก์กว้าง ๑๔ ศอกก็ปรากฎขึ้น เป็นบัลลังก์ที่พระองค์ทรงนั่งตรัสรู้

                เวลานั้น คนตัดหญ้าชื่อ โสตถิยะ หาบหญ้าเดินสวนทางมา เห็นพระโพธิสัตว์จึงถวายหญ้า ๘ กำ พระโพธิสัตว์ทรงรับหญ้านั้น แล้วเสด็จเข้าไปยังควงโพธิพฤกษ์ ชื่อ อัสสัตถะ ซึ่งเป็นวิชัยพฤกษ์อันรุ่งโรจน์กว่าหมู่ต้นไม้ทั้งหลาย ประกอบด้วยกิ่งใบอันหนาทึบ มีร่มเงาเย็น มีสายลมอ่อนๆโชยมา ประดุจยินดีด้วยปีติ เว้นจากการชุมนุมของวิหคทั้งปวง

              พระโพธิสัตว์ทรงทำประทักษิณพญาอัสสัตถพฤกษ์ ๓ รอบ แล้วเสด็จไปทางด้านทิศตะวันออกของโพธิพฤกษ์ ทรงวางหญ้า ๘ กำลงที่ควงโพธิพฤกษ์ ทันใดนั้นบัลลังก์กว้าง ๑๔ ศอกก็ปรากฏขึ้น

              พระโพธิสัตว์ประทับนั่งขัดสมาธิบนบัลลังก์หญ้า หันพระพักตร์ไปทางด้านทิศตะวันออกโดยมีโพธิพฤกษ์อยู่เบื้องพระปฤษฎางค์ มีพระมนัสมั่นคง ทรงอธิษฐานว่า

เนื้อและเลือดในสรีระนี้ แม้จะเหือดแห้งไปหมดสิ้น

เหลือแต่หนัง เอ็น และกระดูกก็ตาม

ตราบใดที่ยังไม่บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ

ตราบนั้นเราจักไม่ลุกขึ้นจากบัลลังก์นี้

              ในกาลนั้น เทวดาทุกจักรวาล ได้ยืนกล่าวสดุดีพระโพธิสัตว์ ท้าวมหาพรหมกั้นเศวตฉัตร ท้าวสักกเทวราชเป่าสังข์วิชยุตร (สังข์นี้เมื่อเป่าให้กินลมไว้คราวเดียว จะมีเสียงดังอยู่ตลอดถึง ๔ เดือน) คนธรรพ์เทพบุตรชื่อปัญจสิขะ ดีดพิณขับลำนำอันประกอบด้วยมงคล ท้าวสุยามเทวราชถือวาวิชนีถวายงานพัด พญามหากาฬนาคราชอันมีนาคฟ้อนรำแวดล้อม พรรณนาพระคุณเกินกว่าร้อยบท ปวงเทพทุกจักรวาลบูชาพระโพธิสัตว์ด้วยดอกไม้ ของหอม และจุรณอันเป็นทิพย์พากันยืนถวายสาธุการอยู่

Go to Top

กลับไปที่ภาพชุดที่ ๒

ชุด๒-ภาพที่๖-ครั้นพระโพธิสัตว์เสวยข้าวมธุปายาส-พระองค์ทรงถือถาดทองอธิษฐาน

ภาพที่ ๖ ครั้นพระโพธิสัตว์เสวยข้าวมธุปายาส พระองค์ทรงถือถาดทองอธิษฐาน ถาดนั้นลอยตัดกระแสน้ำไปถึง ๘๐ ศอก และจมลงในภพของพญากาฬนาคราช กระทบกับถาดเครื่องบริโภคของพระพุทธเจ้า ๓ องค์

เมื่อครั้งได้รับถวายข้าวมธุปายาสจากนางสุชาดา พระโพธิสัตว์เสด็จลุกขึ้นจากที่ประทับนั่ง กระทำประทักษิณต้นไทร แล้วถือถาดนั้นเสด็จไปยังฝั่งน้ำ เนรัญชรา ที่ท่าน้ำชื่อว่า สุปติฏฐิตะ ซึ่งเป็นสถานที่ทรงสรงสนานของพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย ทรงวางถาดลง เสด็จลงสรงสนาน เสร็จแล้วนุ่งห่มธงชัยแห่งพระอรหันต์ อันเป็นเครื่องนุ่งห่มของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ ประทับนั่งผินพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก ทรงกระทำข้าวมธุปายาสนั้นให้เป็น 49 ปั้น ปั้นหนึ่งมีประมาณจาวตาล แล้วเสวย ซึ่งเป็นพระกระยาหารมื้อสุดท้ายก่อนตรัสรู้ ข้าวมธุปายาสทั้งหมดนั้นได้เป็นอาหารอยู่ 49 วัน สำหรับพระโพธิสัตว์ ผู้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ขณะปรับอยู่ที่โพธิมณฑลตลอด 7 สัปดาห์

ครั้นพระโพธิสัตว์เสวยข้าวมธุปายาสที่นางสุชาดานำมาถวายแล้วเสร็จ ทรงถือถาดทองทรงอธิษฐานว่า ถ้าเราจักได้เป็นพระพุทธเจ้าในวันนี้ ถาดทองใบนี้จงลอยทวนกระแสน้ำไป ถ้าไม่ได้เป็นจงลอยไปตามกระแสน้ำ อธิษฐานแล้ว ทรงลอยถาดไปในแม่น้ำ ถาดนั้นลอยตัดกระแสไปถึงกลางแม่น้ำ แล้วลอยทวนกระแสน้ำขึ้นไป ระยะทางประมาณ 80 ศอก จากนั้นก็จมลง ณ วังน้ำวนแห่งหนึ่ง

ถาดทองนั้นจมลงไปถึงภพของ พญากาฬนาคราช กระทบกับถาดเครื่องบริโภคของพระพุทธเจ้า 3 พระองค์ (พระกกุสันธะ พระโกนาคมนะ และพระกัสสปะ) แล้วรองอยู่ใต้ถาดทั้ง 3 นั้น พญากาฬนาคราชครั้นได้ยินเสียง จึงกล่าวว่า เมื่อวานนี้พระพุทธเจ้าบังเกิดแล้วพระองค์หนึ่ง วันนี้บังเกิดขึ้นอีกพระองค์หนึ่ง แล้วลุกขึ้นกล่าวสรรเสริญพระพุทธคุณด้วยคาถาหลายร้อยบท

จากนั้น พระโพธิสัตว์ทรงพักกลางวัน ณ สาลวัน อันมีดอกบานสะพรั่งใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา เวลาเย็นขณะดอกไม้ทั้งหลายหล่นจากขั้ว จึงได้เสด็จบ่ายพระพักตร์ไปยังควงโพธิ์พฤกษ์ ตามหนทางที่เทวดาประดับประดาไว้ เหล่าเทวดา นาค ยักษ์ และครุฑ พากันบูชาด้วยของหอม ดอกไม้อันเป็นทิพย์หมื่นโลกธาติมีกลิ่นหอมเป็นกลิ่นเดียวกัน และมีเสียงสาธุการเป็นเสียงเดียวกัน

Go to Top

กลับไปที่ภาพชุดที่ ๒

ชุด๒-ภาพที่๕-นางสุชาดา-และนางปุณณาทาสี-ทูนถวายถาดข้าวมธุปายาสพระโพธิสัตว์

ภาพที่ ๕ นางสุชาดา และนางปุณณาทาสี ทูนถวายถาดข้าวมธุปายาสพระโพธิสัตว์
ด้วยสำคัญว่าเป็นรุกขเทวดา ที่จะมารับเครื่องพลีกรรมของนาง

สมัยนั้น นางสุชาดา บังเกิดในเรือนของเสนานิกุฎุมพี ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม เจริญวัยแล้วได้ตั้งจิตอธิษฐานต่อเทวดาที่ต้นไทรต้นหนึ่งว่า ถ้าข้าพเจ้าไปสู่เรือนสกุลที่มีชาติเสมอกัน 1 ได้บุตรชายในครรภ์แรก 1 ข้าพเจ้าจักทำพลีกรรม ด้วยการถวายข้าวมธุปายาสแก่ท่าน บัดนี้ ความปรารถนาทั้งสองประการสำเร็จแล้ว จึงประสงค์จะทำพลีกรรมในวันเพ็ญเดือน 6 แต่เช้าตรู่

ครั้นเวลาใกล้รุ่ง นางได้ตระเตรียมหุงข้าวมธุปายาสอันมีรสเลิศด้วยตนเอง เมื่อนางกำลังหุงข้าวปายาสอยู่ ฟองใหญ่ผุดขึ้นไหลวนเป็น ทักขิณาวัฏ น้ำนมแม้จะแตกออกก็ไม่กระเด็นออกไปข้างนอก ควันไฟแม้มีประมาณมาก ก็ไม่ลอยออกจากเตาไฟ

ขณะนั้น ท้าวจตุโลกบาลมาถือการอารักขาที่เตาไฟ ท้าวมหาพรหมกั้นฉัตร ท้าวสักกะนำฟืนมาใส่ไฟให้ลุกโพลงอยู่ เทวดาทั้งหลายรวบรวมเอาโอชะในทวีปใหญ่ทั้ง 4 มาใส่ลงในภาชนะที่หุงข้าวมธุปายาสนั้นด้วยเทวานุภาพของตน ปกติในเวลาอื่น เทวดาใส่โอชะลงในคำข้าวของพระโพธิสัตว์ แต่ในวันนั้น อันเป็นวันพระองค์จักบรรลุ พระสัมมาสัมโพธิญาณ เทวดาใส่โอชะลงในภาชนะนั้นเลยทีเดียว

นางสุชาดาได้เห็นความอัศจรรย์มิใช่น้อย ซึ่งปรากฏแก่ตน ณ ที่นั้น จึงเรียกนางปุณณาทาสีว่า แม่ปุณณา วันนี้เทวดาของพวกเราน่าเลื่อมใสยิ่งนัก เราไม่เคยเห็นความอัศจรรย์ปานนี้ เธอจงรีบไปจัดเตรียมสถานที่บริเวณต้นไทร เพื่อจะทำพลีกรรมโดยเร็ว นางปุณณาทาสีรับคำแล้ว รีบด่วนไปยังต้นไทรนั้นทันที

มหาสุบินนิมิต 5 ประการ

ในคืนก่อนตรัสรู้ พระโพธิสัตว์ทรงมีมหาสุบิน 5 ประการ คือ

  • ประการแรก พระองค์ทรงบรรทมบนพื้นดิน หันพระเศียรไปด้นทิศเหนือ มีขุนเขาหิมวันต์เป็นเขนย พระหัตถ์ซ้ายหย่อนลงไปในมหาสมุทรด้านทิศตะวันออก พระหัตถ์ขวาหย่อนลงไปในมหาสมุทรด้านทิศตะวันตก พระบาททั้งสองหย่อนลงไปในมหาสมุทรด้านทิศใต้ เป็นนิมิตให้ทราบว่า พระองค์จักได้ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณ อันไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า
  • ประการที่สอง หญ้ากุสะ (หญ้าคา) งอกออกมาจากพระนาภีของพระองค์ แล้วเจริญเติบโตสูงขึ้นไปในท้องฟ้า เป็นนิมิตให้ทราบว่า เมื่อพระองค์ตรัสรู้อริยมรรคมีองค์ 8 แล้ว จักทรงประกาศแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
  • ประการที่สาม หมู่หนอนตัวสีขาวศีรษะดำ ไต่ขึ้นมาจากพระบาทตลอดจนถึงพระชานุของพระองค์ เป็นนิมิตให้ทราบว่า เหล่าคฤหัสถ์จำนวนมาก จักขอถึงพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นสรณะตลอดชีวิต
  • ประการที่สี่ นกสี่เหล่า มีสีต่างกันมาจากทิศทั้งสี่ ตกลงแทบพระบาทของพระองค์แล้วกลับกลายเป็นสีขายเหมือนกันทุกตัว เป็นนิมิตให้ทราบว่า วรรณสี่คือ พราหมณ์ กษัตริย์ แพศย์ ศูทร เมื่อออกบวชตามธรรมวินัยแล้ว สามารถทำให้แจ้งซึ่งวิมุตติ อันเป็นทางแห่งความหลุดพ้นที่ยอดเยี่ยม
  • ประการสุดท้าย พระองค์เสด็จดำเนินไปบนภูเขาซึ่งเต็มไปด้วยคูถ ก็มิได้ทรงแปดเปื้อนคูถแต่ประการใด เป็นนิมิตให้ทราบว่า พระองค์จักไม่ลุ่มหลง พัวพัน และหมกมุ่นในปัจจัยสี่ มีปกติเห็นโทษ มีปัญญาเปลื้องตนให้พ้นจากทุกข์ได้

พระโพธิสัตว์ทรงพิจารณามหาสุบินทั้ง 5 ประการแล้ว แน่พระทัยว่า เราจักได้ตรัสรู้เป็พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าในวันนี้โดยไม่ต้องสงสัย

ครั้นเวลาใกล้รุ่ง พระองค์ทรงปฏิบัติพระสรีระแล้ว จึงเสด็จมาประทับนั่งยังโคนต้นไทร เพื่อรอเวลาภิกขาจาร ทรงยังไทรต้นนั้นให้สว่างไสวด้วยพระรัศมีของพระองค์

นางปุณณาทาสี ได้เห็นพระโพธิสัตว์ประทับนั่งที่โคนไม้ กำลังทอดพระเนตรดูโลกธาติด้านทิศตะวันออกอยู่ เห็นต้นไทรสว่างไสวมีสีดุจทองคำ ด้วยพระรัศมีอันซ่านออกจากพระวรกายของพระโพธิสัตว์ นางคิดว่า วันนี้เทวดาของเราทั้งหลาย เห็นจะลงจากต้นไม้มานั่งเพื่อจะรับพลีกรรมด้วยตนเองทีเดียว จึงรีบกลับไปบอกเนื้อความนั้นแก่นางสุชาดา

นางสุชาดาฟังคำของนางปุณณาทาสีแล้วมีใจยินดี รีบนำถาดทองมาด้วยประสงค์จะใส่ข้าวมธุปายาส ขณะนั้นข้าวมธุปายาสทั้งหมดได้ไหลลงมาในถาด เสมือนหยาดนั้นกลิ้งมาจากใบปทุม ข้าวมธุปายาสนั้นมีปริมาณเต็มถาดพอดี นางเอาถาดทองใบอื่นครอบถาดใบนั้น ห่อหุ้มด้วยผ้าขาว ตนเองประดับกายด้วยเครื่องประดับอันล้ำค่า ทูนถาดข้าวมธุปายาสไว้บนศีรษะมือถือคนโทน้ำทองคำ รีบไปยังโคนต้นไทรนั้นด้วยความปิติ เห็นพระโพธิสัตว์แล้วนางเกิดความโสมนัสเป็นกำลัง ด้วยสำคัญว่าเป็น รุกขเทวดา ที่จะมารับเครื่องพลีกรรมของนาง จึงค้อมตัวเดินไปจำเดิมแต่ที่ได้เห็น นางปลงถาดลงจากศีรษะ เปิดผ้าคลุมพร้อมทั้งถาดใบที่ครอบออกถือถาดข้าวมธุปายาส และคนโทน้ำอันบรรจุน้ำที่อบด้วยดอกไม้หอม เข้าไปเพื่อถวายพระโพธิสัตว์

ที่ท้าวฆฏิการมหาพรหมถวาย ไม่เคยได้ห่างพระโพธิสัตว์มาตลอดเวลา ขณะนั้นมิได้อยู่ใกล้ ณ ที่นั้น พระโพธิสัตว์เมื่อแลไม่เห็นบาตรจึงเหยียดพระหัตถ์ออกรับ นางสุชาดาวางถาดทองข้าวปายาสลงบนพระหัตถ์ของพระโพธิสัตว์ ทูลว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ขอท่านจงถือเอาข้าวมธุปายาส ที่ข้าพเจ้าถวายนี้เถิด นางถวายบังคมแล้วทูลอีกว่า มโนรถของดิฉันสำเร็จแล้วฉันใด แม้มโนรถของท่านก็จงสำเร็จ ฉันนั้น นางถวายข้าวมธุปายาสพร้อมทั้งถาดทองซึ่งมีราคาตั้งแสนโดยไม่เสียดายเลย แล้วหลีกไป

พระโพธิสัตว์เสด็จลุกขึ้นจากที่ประทับนั่ง กระทำประทักษิณต้นไทร แล้วถือถาดนั้นเสด็จไปยังฝั่งน้ำ เนรัญชรา ที่ท่าน้ำชื่อว่า สุปติฏฐิตะ ซึ่งเป็นสถานที่ทรงสรงสนานของพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย ทรงวางถาดลง เสด็จลงสรงสนาน เสร็จแล้วนุ่งห่มธงชัยแห่งพระอรหันต์ อันเป็นเครื่องนุ่งห่มของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ ประทับนั่งผินพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก ทรงกระทำข้าวมธุปายาสนั้นให้เป็น 49 ปั้น ปั้นหนึ่งมีประมาณจาวตาล แล้วเสวย ซึ่งเป็นพระกระยาหารมื้อสุดท้ายก่อนตรัสรู้ ข้าวมธุปายาสทั้งหมดนั้นได้เป็นอาหารอยู่ 49 วัน สำหรับพระโพธิสัตว์ ผู้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ขณะปรับอยู่ที่โพธิมณฑลตลอด 7 สัปดาห์
Go to Top

กลับไปที่ภาพชุดที่ ๒

ชุด๒-ภาพที่๔-หมณ์โกณทัญญะ และบุตรของพราหมณ์ผู้ทำนายพระมหาปุริสลักษณะ ถวายการอุปัฏฐากพระโพธิสัตว์ ณ ตำบลอุรุเวลา
พระโพธิสัตว์ทรงเข้าศึกษาในสำนักอาฬารดาบส แลอุทกดาบส จนสำเร็จสมาบัติ ๘

             ภายหลังเสด็จออกผนวชพระพุทธองค์ได้เสด็จต่อไปยังเมืองพาราณสี เข้าศึกษาในสำนักอาฬารดาบส กาลามโคตร ซึ่งมีชื่อเสียงอยู่ในขณะนั้นเพื่อทรงศึกษาเล่าเรียนหาหนทางตรัสรู้

            สำนักอาฬารดาบสกาลามโคตร เป็นสำนักที่มีผู้มีความรู้สูงในทางจิต ทางฌาน ทางภาวนา เมื่อพระองค์เรียนจบความรู้ของอาจารย์จนอาจารย์ยกย่องว่า พระองค์ทรงเก่งกว่าใครๆ ทรงเรียนจบได้ถึงขั้นอากิญจัญญายตนะณานสมาบัติ เห็นว่าไม่ใช่ทางตรัสรู้ จึงเสด็จต่อไปยังสำนักของท่านอุทกดาบสรามบุตร (ซึ่งเป็นสำนักที่ให้ความรู้สูงกว่าอาฬารดาบส) ได้สำเร็จสมาบัติ ๘ เนวสัญญานาสัญญายตนะขั้นสูงสุดของสำนัก ซึ่งก็ไม่ทรงเห็นว่าจะเป็นทางตรัสรู้ (เพราะขณะเข้าฌานอยู่นั้นไม่มีทุกข์ก็จริง แต่เมื่ออกจากฌานแล้วจิตใจก็เหมือนคนธรรมดา) ยังไม่พอพระทัยในสมาบัติภาวนานั้น มีประสงค์จะกระทำมหาปธาน (ความเพียรใหญ่) จึงเสด็จจาริกต่อไปอีกหลายแคว้นหลายตำบลในรัฐมคธขณะนั้น จนในที่สุดเสด็จมาถึงอุรุเวลาเสนานิคม เริ่มบำเพ็ญเพียรเพื่อแสวงหาโมกขธรรมด้วยการทรมานตนเองตามความเชื่อถือแต่เดิม ทรงตัดอาหารเสียโดยประการทั้งปวง ฝ่ายเทวดาก็นำทิพยโอชะใส่เข้าไปในเมล็ดข้าวที่พระโพธิสัตว์เสวย

บรรพชิต ๔ รูป ผู้เป็นบุตรของพราหมณ์ผู้ทำนายพระมหาปุริสลักษณะ และพราหมณ์โกณฑัญญะที่บวชคอยอยู่ก่อน พากันเที่ยวภิกขาจารไปในคาม นิคม และราชธานี ได้มาพบพระโพธิสัตว์ ณ ตำบลอุรุเวลานั้น พากันอุปัฏฐากพระโพธิสัตว์ผู้เริ่มตั้งความเพียรตลอดเวลา ๖ ปี ด้วยหวังใจว่าหากพระโพธิสัตว์จักตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า เราจักได้เป็นผู้อยู่ในสำนักของพระโพธิสัตว์นั้น ตามคำสั่งของพราหมณ์ผู้เป็นบิดา

           ครั้งนั้น พระวรกายของพระโพธิสัตว์แม้จะมีพระฉวีดุจทอง ก็กลับเศร้าหมองและดำคล้ำไป ถึงความซูบผอม เพราะมิได้เสวยพระกระยาหาร พระมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ก็ถูกปกปิดไม่ปรากฏ ในกาลบางคราวเมื่อทรงเพ่ง อานาปานกฌาน คือลมหายใจเข้าออก ถูกเวทนากล้าครอบงำ ก็ถึงกับสลบล้มลงในที่สุดแห่งที่จงกรม

ชุด๒-ภาพที่๔-ทุกขกิริยา

           พระโพธิสัตว์ทรงทำทุกรกิริยาอยู่ ๖ ปี ถึงที่สุดแห่งการบำเพ็ญ มีพระดำริว่า ชื่อว่าการทำทุกรกิริยานี้ไม่ใช่ทางแห่งพระโพธิญาณแน่นอน จึงมีพระประสงค์จะเสวยภัตตาหารเช่นเดิม เสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังคามนิคม เมื่อได้เสวยพระกระยาหารแล้ว พระมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการของพระโพธิสัตว์ก็กลับเป็นปกติ พระวรกายมีพระฉวีดุจทองเช่นเดิม
ขณะนั้น ปัญจวัคคีย์ผู้อุปัฏฐากพระองค์ คิดว่า พระโพธิสัตว์นี้แม้จะทำทุกรกิริยาอยู่ถึง ๖ ปี ก็ยังไม่อาจตรัสรู้ พระสัพพัญญุตญาณ ได้ แต่บัดนี้ กลับเที่ยวบิณฑบาตไปในคาม นิคมบริโภคอาหารหยาบเช่นมนุษย์ทั่วไป จักตรัสรู้ได้อย่างไร พระโพธิสัตว์นี้คลายความเพียรเวียนมาเป็นคนมักมากเสียแล้ว พวกเราจักได้ประโยชน์อะไรด้วยการอุปัฏฐากพระองค์ จึงพากันละพระโพธิสัตว์ ถือเอาบริขารของตน ๆ เดินทางไปยัง อิสิปตนมฤคทายวัน กรุงพาราณสี

เรียบเรียงจากหนังสือ พระพุทธประวัติ โดย สุรีย์ มีผลกิจ

Go to Top

กลับไปที่ภาพชุดที่ ๒

ชุด๒-ภาพที่๓-ภาพพระเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกผนวช

ภาพที่ ๓ ภาพเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกผนวช ทรงใช้พระขรรค์ตัดพระเมาลี ณ ริมฝั่งแม่น้ำอโนมานที

พระโพธิสัตว์ลุกขึ้นจากพระแทนบรรทม เสด็จไปยังพระทวาร ตรัสกับ นายฉันนะ ซึ่งนอนอยู่ ณ ที่นั้นว่า วันนี้เราประสงค์จะออกมหาภิเนษกรมณ์ เจ้าจงจัดเตรียมสินธพฝีเท้าจัดไว้ตัวหนึ่ง นายฉันนะรับพระราชดำรัสแล้ว ถือเครื่องแต่งม้าไปยังโรงม้า เห็น พญาม้ากัณฐกะ เป็นม้าที่ถึงพร้อมด้วยรูป คือส่วนยาวตั้งแต่หัวจรดปลายหาง 18 ศอก ส่วนสูงพอเหมาะกับส่วนยาว มีฝีและกำลังอันเลิศ สีขาวล้วนประดุจสังข์ที่ขัดสะอาดแล้ว นายฉันนะคิดว่าเราควรเตรียมม้ามงคลตัวนี้ เพื่อพระลูกเจ้าออกมหาภิเนษกรมณ์

ม้ากัณฐกะเมื่อถูกจัดเตรียม ก็รู้ว่าพระลูกเจ้าของเราคงจักมีพระประสงค์จะเสด็จออกมหาภิเนษกรณ์อย่างไม่ต้องสงสัย เพราะการเตรียมครั้งนี้ไม่เหมือนเวลาเสด็จในวันอื่น ม้ากัณฐกะมีใจยินดี ส่งเสียงร้องดังกังวาน แต่เทวดาปิดกั้นไว้มิให้ใครได้ยิน

พระโพธิสัตว์เมื่อทรงใช้นายฉันนะไปแล้ว มีพระดำริว่าเราจักดูลูกก่อน จึงเสด็จไปยังที่ประทับของมารดาพระราหุล ทรงเปิดพระทวาร ขณะนั้นประทีปน้ำมันหอมในห้องยังลุกโพลงอยู่ มารดาพระราหุลบรรทมหลับ วางพระหัตถ์ไว้เหนือเศียรของพระโอรส บนที่บรรทมอันเกลื่อนกล่นด้วยดอกมะลิ พระโพธิสัตว์ประทับยืนข้างพระทวาร ทอดพระเนตรดูแล้วทรงดำริว่า ถ้าเราจักยกพระหัตถ์ของพระเทวีออกแล้วจับลูกเรา พระเทวีก็จักตื่น มหาภิเนษกรมณ์ของเราก็จักเป็นอันตราย เราจักเป็นพระพุทธเจ้าก่อน แล้วจึงกลับมาเยี่ยมดูลูก ดังนี้แล้วเสด็จลงจากปราสาทไป

(ในอรรถกถา ชาดกกล่าวว่า ในตอนนั้นพระราหุลกุมารประสูติได้ 7 วัน)

พระโพธิสัตว์เสด็จลงจากปราสาทแล้ว เสด็จเข้าไปใกล้พญาม้า ตรัสว่า กัณฐกะ วันนี้เจ้าจงพาเราข้ามฝั่งสักครั้งหนึ่งเถิด เราอาศัยเจ้าได้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว จักยังโลกพร้อมทั้งเทวโลกให้ข้ามฝั่งด้วย จากนั้นพระโพธิสัตว์เสด็จขึ้นประทับบนหลังม้ากัณฐกะ ทรงโปรดให้นายฉันนะนั่งเยื้องพระปฤษฎางค์ เสด็จถึงประตูใหญ่แห่งพระนครในตอนเที่ยงคืน

หลังจากพราหมณ์พยากรณ์พระลักษณะของพระโพธิสัตว์แล้ว พระราชาทรงให้กระทำบานประตูพระนครสองบาน แต่ละบานจะต้องใช้บุรุษหนึ่งพันคนเปิด ด้วยพระดำริว่า พระโพธิสัตว์จักไม่สามารถเปิดประตูพระนครออกไปได้ ไม่ว่าในเวลาใดๆ แต่พระโพธิสัตว์ทรงสมบูรณ์ด้วยพละกำลัง มีพระดำริว่าถ้าประตูไม่เปิด วันนี้เราจะนั่งหลังกัณฐกะนี้แหละ จักเอาสองขาหนีบม้ากัณฐกะ แล้วกระโดดข้ามกำแพงไปพร้อมกับฉันนะ ส่วนนายฉันนะก็คิดว่า ถ้าประตูไม่เปิดเราก็จักให้พระลูกเจ้าประทับนั่งที่คอ สองขาหนีบม้ากัณฐกะ แล้วกระตุ้นให้กัณฐกะโดดข้ามกำแพงไป ฝ่ายม้ากัณฐกะก็คิดว่า หากประตูไม่เปิด จักยกพระลูกเจ้าตามที่ประทับนั่งอยู่พร้อมกับนายฉันนะกระโดดข้ามกำแพงออกไป ทั้งสามคิดเหมือนกันอย่างนี้ แต่เทวดาที่สถิตอยู่ที่ประตูได้ช่วยกันเปิดประตูใหญ่ให้พระโพธิสัตว์ เมื่อเสด็จพ้นประตูพระนคร พระโพธิสัตว์ทรงบังคับม้ากัณฐกะให้หันกลับ เพื่อทอดพระเนตรกรุงกบิลพัสดุ์อีกครั้งหนึ่ง จากนั้นจึงเสด็จดำเนินต่อไป

ขณะนั้น มารผู้มีบาปคิดว่า จักให้พระโพธิสัตว์กลับไป จึงมายืนขวางทางห้มมิให้ออก มหาภิเนษกรมณ์ กล่าวกับพระโพธิสัตว์ว่านับแต่นี้ 7 วัน จักรรัตนะทิพย์จะปรากฏแก่ท่าน ท่านจักได้ครอบครองราชสมบัติแห่งทวีปใหญ่ทั้ง 4 มีทวีปน้อยสองพันเป็นบริวาร ข้าแต่ท่านผู้นิรทุกข์ ท่านจงกลับเสียเถิด พระโพธิสัตว์ตรัสถามว่า ท่านเป็นใคร มารตอบว่า เราคือ วสวัตตีมาร พระโพธิสัตว์ตรัสว่า เราทราบว่าจักรรัตนะจะปรากฏแก่เรา แต่เราไม่มีความต้องการด้วยราชสมบัติ เราจักเป็นพระพุทธเจ้า ไปเสียเถิดมาร มารนั้นกล่าวว่า นับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปเราจักคอยแสวงหาโอกาส และจักติดตามพระองค์ไปดุจเงาฉะนั้น

พระโพธิสัตว์มิได้มีความอาลัย ละทิ้งจักรพรรดิราชสมบัติ อันอยู่ในเงื้อมพระหัตถ์ ประหนึ่งทิ้งก้อนเขฬะ เสด็จออกจากพระนครด้วยพระทัยอันมั่นคง

ในกาลนั้น เหล่าเทวดาต่างพากันชูคบเพลิงแวดล้อมพระโพธิสัตว์ เหล่านาค และครุฑ เป็นต้น ก็บูชาด้วยของหอมและดอกไม้อันเป็นทิพย์ ตลอดทางที่เสด็จดำเนินผ่าน ผืนนภาเนืองแน่นไปด้วยดอกปาริชาต และดอกมณฑารพ ทิพยสังคีตทั้งหลายบรรเลงขึ้นโดยรอบ

พระโพธิสัตว์เสด็จผ่านราชอาณาจักรทั้ง 3 โดยราตรีเดียวเท่านั้น เสด็จถึงฝั่งแม่น้ำสายหนึ่ง ในที่สุดหนทาง 30 โยชน์ ประทับยืน ณ ริมฝั่งแม่น้ำ ตรัสถามนายฉันนะว่าแม่น้ำนี้ชื่อใด นายฉันนะทูลตอบว่า ชื่อ อโนมานที พะย่ะค่ะ พระองค์จึงเอาส้นพระบาทกระตุ้นให้สัญญาณ ม้ากัณฐกะได้กระโดดข้ามแม่น้ำอันกว้างสุดประมาณ ไปยืนที่ฝั่งตรงข้าม พระโพธิสัตว์เสด็จลงจากหลังม้า ประทับยืนที่หาดทรายริมฝั่งน้ำ

พระโพธิสัตว์ทรงดำริว่า ผมของเราอย่างนี้ไม่ควรแก่เพศบรรพชิต ผู้อื่นที่สมควรจะตัดผมของพระโพธิสัตว์ย่อมไม่มี จึงใช้พระขรรค์ตัดพระเมาลี (มวยผม) จนเหลือพระเกสายาวเพียงสององคุลี เวียนขวาแนบติดพระเศียร ส่วนพระมัสสุ (หนวด) ก็มีพอประมาณเหมาะกับพระเกสา พระเกสาและพระมัสสุของพระโพธิสัตว์ได้มีประมาณเท่านั้นตลอดพระชนม์ชีพ กิจด้วยการปลงพระเกสาและพระมัสสุมิได้มีอีกต่อไป

จากนั้น พระโพธิสัตว์ทรงรวบพระเมาลี อธิษฐานว่าถ้าเราจักได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ขอให้ผมของเราจงตั้งอยู่ในอากาศ ถ้าไม่สามารถตรัสรู้ได้ ก็ขอให้ตกลงบนพื้นแผ่นดิน แล้วทรงเหวี่ยงขึ้นไป กำพระเมาลีนั้นลอยขึ้นไปในอากาศประมาณหนึ่งโยชน์ แล้วได้ตั้งอยู่ในอากาศ

ลำดับนั้น ท้าวสักกะเทวราชทรงนำผอบรัตนะมารับพระเมาลีนั้นไว้ นำไปประดิษฐานไว้ในพระเจดีย์ชื่อว่า จุฬามณีเจดีย์ ในดาวดึงสพิภพ

พระโพธิสัตว์ทรงดำริอีกว่า ผ้ากาสิกพัสตร์เหล่านี้มีค่ามาก ไม่สมควรแก่สมณเพศ ครั้งนั้น ฆฏิการมหาพรหม ผู้เป็นสหายเก่าของพระโพธิสัตว์ในสมัยพระกัสสปะพุทธเจ้า มีความเป็นมิตรมาตลอดพุทธันดรหนึ่ง คิดว่า วันนี้สหายเราจักออกมหาภิเนษกรมณ์ เราจักถือสมณบริขารไปเพื่อสหายนั้น จึงนำบริขาร 8 ไปถวาย คือ

ไตรจีวร บาตร มีด เข็ม รัดประคด และผ้ากรองน้ำ
ซึ่งเป็นของภิกษุผู้ประกอบความเพียร

พระโพธิสัตว์ทรงครองผ้าธงชัยแห่งพระอรหันต์ ทรงถือเพศบรรพชิตอันอุดม ทรงเหวี่ยงอาภรณ์อันวิสสุกรรมเทพบุตรตกแต่งให้ขึ้นไปในอากาศ ท้าวมหาพรหมมารับไว้แล้วสร้างเจดีย์ด้วยรัตนะในพรหมโลก บรรจุอาภรณ์เหล่านั้นไว้ภายใน

จากนั้น ตรัสสั่งนายฉันนะว่า ฉันนะผู้สหาย เธอจงนำกัณฐกะกลับไป นายฉันนะกราบทูลว่า แม้ข้าพระองค์ก็จักบวช พระโพธิสัตว์ตรัสห้ามถึง 3 ครั้งว่า เธอยังบวชไม่ได้ เธอจงกลับไปทูลข่าวการบรรพชาของเราแก่พระชนกและพระมาตุจฉา นายฉันนะจำใจต้องถวายบังคมลาพระโพธิสัตว์ กระทำประทักษิณแล้วหลีกไป

ส่วนม้ากัณฐกะ ได้ยินพระดำรัสของพระโพธิสัตว์ที่ตรัสกับนายฉันนะ คิดว่า บัดนี้เราจักไม่ได้เห็นนายของเราอีกต่อไป พอละสายตาจากพระโพธิสัตว์ ไม่อาจกลั้นความโศกไว้ได้ หัวใจแตกตายในทันทีนั้น ไปบังเกิดเป็นเพทบุตรนามว่า กัณฐกะ ในภพดาวดึงส์ นายฉันนะถูกความโศกเบียดเบียนอีกเป็นครั้งที่สอง จำใจเดินทางกลับด้วยความทุกข์

พระโพธิสัตว์ทรงยับยั้งอยู่ ณ อนุปิยอัมพวัน ริมฝั่งแม่น้ำอโนมานั้น 7 วัน ด้วยความสุข อันเกิดจากบรรพชา แล้วเสด็จดำเนินด้วยพระบาทสิ้นหนทาง 30 โยชน์ เสด็จเข้าสู่กรุงราชคฤห์ เที่ยวบิณฑบาตไปตามลำดับเรือน ชาวพระนครทั้งสิ้นพากันตื่นเต้น เพราะได้เห็นพระรูปโฉมของพระโพธิสัตว์ ด้วยความปีติโสมนัสในพระจริยาวัตร พวกราชบุรุษได้ไปกราบทูลเรื่องนี้แก่พระองค์พิมพิสาร พระราชาทรงสดับความแล้ว ประทับยืนที่ปราสาท ทอดพระเนตรเห็นพระโพธิสัตว์ อัศจรรย์พระหทัยยิ่ง รับสั่งกับพวกราชบุรุษว่า ท่านทั้งหลายจงไปพิจารณาดูท่านผู้นั้น ถ้าหากเป็นอมนุษย์เมื่อออกจากพระนครแล้วจักหายไป ถ้าเป็นเทวดาจักไปทางอากาศ ถ้าเป็นนาคราชจักดำดินไป ถ้าเป็นมนุษย์จักบริโภคภิกษาหารตามที่ได้มา

ฝ่ายพระโพธิสัตว์ ดำริว่าภัตมีประมาณเท่านี้พอสำหรับเรา เพื่อที่จะยังอัตภาพให้เป็นไป จึงเสด็จออกจากนครทางประตูที่เสด็จเข้ามา บ่ายพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก ประทับนั่งที่ร่มเงาของภูเขาปัณฑวะ เริ่มเสวยพระกระยาหาร พระองค์บังเกิดความรู้สึกว่าภัตเหล่านั้นมีอาการเสมือนจะกลับออกมาทางพระโอษฐ์ ทรงกังวลพระหฤทัยด้วยอาหารอันปฏิกูล เพราะพระองค์ไม่เคยประสบอาหารเช่นนี้มาก่อนแม้ด้วยพระจักษุ จึงทรงโอวาทพระองค์เองว่า ดูกรสิทธัตถะ เมื่อเธอได้เห็นท่านผู้ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตรรูหนึ่ง แล้วเคยคิดว่า เมื่อใดเราจักได้ออกบวช เป็นผู้บิณฑบาตบริโภคเที่ยวไป กาลนั้นจักมีไหมสำหรับเรา บัดนี้เธอได้บวชสมปรารถนาแล้ว จะกระทำในข้อที่หวังไว้อย่างไร ครั้นทรงโอวาทพระองค์เองอย่างนี้แล้ว จึงเสวยพระกระยาหารนั้นด้วยความสำรวม ไม่มีพระอาการผิดปกติ

พวกราชบุรุษทั้งหลายเห็นเหตุนั้นแล้ว ได้ไปกราบทูลในพระราชาทรงทราบ พระราชาทรงสดับคำของราชบุรุษแล้ว รีบเสด็จออกจากพระนคร ตามไปยังสำนักของพระโพธิสัตว์ ประทับนั่งเหนือพื้นศิลาอันพระโพธิสัตว์อนุญาต ทรงได้รับปฏิสันถารแล้ว จึงถามถึงนามและโคตร พระราชาเกิดความเลื่อมใสในพระอิริยาบถ ทูลขอให้พระโพธิสัตว์ครองราชย์บัลลังก์แคว้นมคธร่วมกันกับพระองค์

พระโพธิสัตว์ตรัสว่า มหาบพิตร อาตมภาพไม่มีความต้องการด้วยวัตถุกาม หรือกิเลสกาม อาตมภาพปรารถนา พระสัมมาสัมโพธิญาณ อันยอดยิ่งจึงออกบวช พระราชาแม้จะทรงขอร้องหลายประการ ก็มิสามารถจะโน้มน้าวพระหฤทัยของพระโพธิสัตว์ได้ ดำริว่าท่านผู้นี้จักเป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน จึงทูลของปฏิญญาว่า เมื่อใดพระองค์เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ขอได้โปรดเสด็จมายังแคว้นของหม่อมฉันก่อน แล้วทูลลาพระโพธิสัตว์เสด็จกลับพระนคร

Go to Top

กลับไปที่ภาพชุดที่ ๒

ชุด๒-ภาพที่๒-ราหุลเกิดแล้ว-เครื่องจองจำเกิดขึ้นแล้ว

ภาพที่ ๒ : ภาพพระโพธิสัตว์ตรัสกับพระนางยโสธราและพระราชโอรส ว่า “ราหุลเกิดแล้ว เครื่องผูกได้เกิดขึ้นแล้ว เครื่องจองจำเกิดขึ้นแล้ว”

พระเจ้าสุทโธนะทรงสดับข่าวว่า พระนางยโสธราประสูติพระราชโอรสแล้ว เสด็จมาแสดงความยินดีกับพระโพธิสัตว์ในการประสูติของพระนัดดา พระโพธิสัตว์ตรัสว่า

“ราหุลชาโต พนฺธนํ ชาตํ บัดนี้ห่วงเกิดแล้ว เครื่องผูกเกิดแล้ว”
(ราหุลแปลว่าห่วงหรือเครื่องพันธนาการ)

พระราชาทรงสดับคำของพระโพธิสัตว์ จึงตรัสว่าหลานเราจงมีชื่อว่า ราหุล ตั้งแต่บัดนี้เป็ต้นไป ส่วนพระโพธิสัตว์เมื่อได้ฟังคำนั้นแล้วตรัสย้ำอีกว่า ราหุลเกิดแล้ว เครื่องผูกได้เกิดขึ้นแล้ว เครื่องจองจำเกิดขึ้นแล้ว จากนั้นก็เสด็จดำเนินเข้าสู่ปราสาท

Go to Top

กลับไปที่ภาพชุดที่ ๒

ชุด๒-ภาพที่๑-เหตุแห่งการเสด็จออกบรรพชา

ภาพเหตุแห่งการเสด็จออกบรรพชา เจ้าชายสิทธัตถะทอดพระเนตรเห็นคนแก่ คนเจ็บ คนตาย
ซึ่งเป็นความน่าสังเวชของสรีระ ก่อนทรงตัดสินใจออกบรรพชา

วันหนึ่งพระโพธิสัตว์มีพระประสงค์จะเสด็จประพาสพระราชอุทยาน สารถีได้ประดับรถอันเป็นราชพาหนะ ด้วยเครื่องอลังการที่ยิ่งใหญ่ มีสิริสง่าด้วยพวงดอกไม้มีกลิ่นหอมต่างๆเทียมด้วยม้าสินธพอันเป็นมงคล 4 ตัว เสด็จไปสู่พระราชอุทยาน

เทวดาทั้งหลายดำริกันว่า กาลที่จะตรัสรู้ของ เจ้าชายสิทธัตถะ ใกล้เข้ามาแล้ว พวกเราจักแสดงบุพนิมิตแก่พระองค์ จึงสำแดงกายเป็นบุรุษผู้หนึ่ง มีสรีระคร่ำคร่าเพราะชรา ฟันหัก ผมหงอกหลังโกง กายค้อมลง มือถือไม้เท้า เดินงกๆเงิ่นๆอยู่ พระโพธิสัตว์และสารถีต่างก็เห็นชายชรานั้น พระโพธิสัตว์ตรัสถามสารถี ครั้นฟังคำตอบของสารถีแล้วทรงดำริว่าความเกิดนี้น่าติเตียนยิ่งนัก เพราะชื่อว่าความแก่จักต้องปรากฏแก่สัตว์ผู้เกิดแล้วอย่างแน่นอน ทรงสังเวชพระทัย กลับจากพระราชอุทยาน เสด็จขึ้นสู่ปราสาททันที

วันรุ่งขึ้น พระโพธิสัตว์เสด็จไปพระราชอุทยานเหมือนเช่นเดิม ทรงเห็นคนเจ็บที่เทวดาเนรมิตขึ้น ตรัสถามสารถเหมือนกับวันก่อน สดับคำตอบของสารถีแล้ว ทรงสังเวชพระทัย เสด็จกลับจากพระราชอุทยาน แล้วเสด็จขึ้นสู่ปราสาท

วันที่สาม เสด็จไปพระราชอุทยานอีก ได้ทอดพระเนตรเห็นคนตายที่เทวดาเนรมิต จึงตรัสถามเหมือนนัยก่อนนั่นอีก ทรงสังเวชพระทัย แล้วเสด็จกลับขึ้นปราสาท

วันที่สี่ พระโพธิสัตว์เสด็จไปพระราชอุทยาน เห็นบรรพชิตนุ่งห่มเรียบร้อย ที่เทวดาเนรมิต จึงตรัสถามสารถีเช่นเคย สารถีแม้ไม่รู้จักนักบวช เพราะพระพุทธเจ้ายังไม่อุบัติก็จริงอยู่ แต่กระนั้น สารถีก็ตอบไปโดยอานุภาพของเทวดาว่า ผู้นี้คือบรรพชิต พระเจ้าข้า แล้วพรรณนาคุณแห่งการบวช พระโพธิสัตว์เกิดความพอพระทัยในการบรรพชา เสด็จอยู่ในอุทยานตลอดวันนั้น ทรงสรงสนานในสระโบกขรณีอันเป็นมงคล ก่อนอาทิตย์อัสดง ประทับนั่งบนแผ่นศิลา มีพระทรงสรงสนานในสระโบกขรณีอันเป็นมงคล ก่อนอาทิตย์อัสดง ประทับนั่นบนแผ่นศิลา มีพระประสงค์จะแต่งพระองค์ พวกพนักงานภูษามาลาถือเอเครื่องอาภรณ์หลายชนิดนานัปการ และของหอม เครื่องลูบไล้ มายืนห้อมล้อมอยู่โดยรอบ

ท้าวสักกะ ทรงทราบกาลที่พระโพธิสัตว์ มีพระประสงค์จะเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ จึงเรียกวิสสุกรรมเทพบุตรมาตรัสว่า วิสสุกรรมผู้สหาย วันนี้เจ้าชายสิทธัตถะจักเสด็จออก มหาภิเนษกรมณ์ ในเวลาเที่ยงคืน การประดับนี้จะเป็นการประดับครั้งสุดท้ายของพระองค์ ท่านจงไปยังอุทยาน ตกแต่งพระโพธิสัตว์ด้วยเครื่องประดับอันเป็นทิพย์ วิสสุกรรมเทพบุตรทูลรับพระบัญชาแล้ว เข้าไปหาพระโพธิสัตว์ทันทีด้วยเทวานุภาพ ตกแต่งพระโพธิสัตว์ด้วยเครื่องอลังการที่เป็นทิพย์ พราหมณ์ทั้งหลายสรรเสริญด้วยคาถา อาทิว่า ขอพระองค์ทรงยินดีในชัยชนะ เหล่าข้าราชบริพารก็กล่าวสรรเสริญด้วยถ้อยคำอันเป็นมงคลนานัปการ พระโพธิสัตว์เสด็จขึ้นราชรถอันประเสริฐ กลับเข้าสู่พระนคร

พระโพธิสัตว์เสด็จขึ้นปราสาทแล้ว ทรงบรรทมบนพระแท่นไสยาสน์ เหล่าสตรีนักฟ้อน ผู้ประดับประดาด้วยเครื่องอลังการทั้งปวง เป็นผู้ชำนาญในศิลปะการฟ้อนรำและขับร้อง งามเลิศด้วยรูปโฉมประดุจเทพกัญญา ถือเครื่องดนตรีนานาชนิด พากันมาแวดล้อมพระโพธิสัตว์ให้อภิรมย์ยินดี ต่างพากันแสดงการฟ้อนรำ ขับร้อง และบรรเลง
พระโพธิสัตว์มีพระทัยเบื่อหน่ายในกามทั้งหลาย จึงมิทรงอภิรมย์ในการฟ้อนรำนั้น ครู่เดียวก็เข้าสู่นิทรา สตรีเหล่านั้นเห็นพระโพธิสัตว์บรรทมหลับ ต่างก็คิดว่าพวกเราประกอบการฟ้อนเป็นต้นนี้ เพื่อประโยชน์แก่เจ้าชายสิทธัตถะ แต่เจ้าชายพระองค์นั้นก็เข้าสู่นิทราแล้ว บัดนี้พวกเราจะลำบากเพื่อประโยชน์อะไร ต่างพากันวางเครื่องดนตรีที่ถือไว้ลง แล้วก็นอนหลับไปทั้งที่ประทีปน้ำมันหอมยังติดโพลงอยู่

พระโพธิสัตว์ตื่นจากบรรทม ประทับนั่งขัดสมาธิบนพระแท่น ทอดพระเนตรเห็นอาการต่างๆของสตรีเหล่านั้นในเวลาหลับ ก็ยิ่งมีจิตเบื่อหน่ายในกามทั้งหลายสุดประมาณ ปราสาทที่ประดับประดาตกแต่งแล้ว แม้จะงดงามเช่นกับภพของท้าวสักกะ ก็ปรากฏแก่พระโพธิสัตว์ประหนึ่งป่าช้าผีดิบ ที่กองเต็มไปด้วยซากศพนานาชนิด ภพทั้งสามปรากฏเหมือนเรือนถูกไฟไหม้ ทรงเปล่งอุทานว่า วุ่นวายจริงหนอ ขัดข้องจริงหนอ พระทัยก็น้อมไปเพื่อการบรรพชายิ่งขึ้น พระองค์มีพระดำริว่า วันนี้เราควรออกมหาภิเนษกรมณ์

เรียบเรียงจากหนังสือ พระพุทธประวัติ โดย สุรีย์ มีผลกิจ

Go to Top

กลับไปที่ภาพชุดที่ ๒