ชุด ๔ ภาพที่ ๒ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงยมกปฏิหาริย์ ณ กรุงสาวัตถี |
พระปิณโฑลภารทวาชเถระแสดงฤทธิ์
ครั้งหนึ่ง พวกเศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์ พากันไปอาบน้ำในน้ำคงคา เพื่อชำระบาปตามประเพณี ได้ขึงตาข่ายไว้ในน้ำเพื่อป้องกันสัตว์ร้าย ในกาลนั้นได้มีปุ่มไม้จันทน์แดงขนาดประมาณเท่าบาตร ถูกคลื่นซัดลอยมาติดที่ตาข่าย
ปุ่มไม้จันทน์แดงนั้นมีราคาแพง ราชคหเศรษฐีจึงคิดว่า ถ้ากระไร เราจะให้ช่างกลึงบาตรด้วยปุ่มไม้จันทน์แดงนี้ ใส่สาแหรกแขวนไว้ที่ปลายไม้ผูกต่อๆกันขึ้นไป แล้วจักประกาศว่า สมณะหรือพราหมณ์ผู้ใดเป็นพระอรหันต์และมีฤทธิ์ จงมาปลดบาตรที่เราให้ไปเถิด เมื่อช่างกลึงบาตรเสร็จก็นำไปแขวนไว้ตามความดำรินั้น
ปูรณกัสสปะ ทราบข่าวเข้าไปหาท่านราชคหเศรษฐี กล่าวว่า อาตมานี้แหละเป็นพระอรหันต์และมีฤทธิ์ ขอท่านจงให้บาตรแก่อาตมาเถิด ท่านเศรษฐีตอบว่า ท่านเจ้าข้า ถ้าพระคุณเจ้าเป็นพระอรหันต์และมีฤทธิ์ ก็จงขึ้นไปปลดบาตรที่ข้าพเจ้าให้เถิด
เวลาต่อมา มักขลิโคสาล อชิตเกสกัมพล ปกุธกัจจายนะ สัญชัยเวสัฏฐบุตร และ นิครนถ์นาฏบุตร ได้เข้าไปหาเศรษฐี พูดทำนองเดียวกันกับท่านปูรณกัสปะ ก็ได้รับคำตอบจากเศรษฐีเช่นเดียวกันอีกว่า ท่านเจ้าข้า ถ้าพระคุณเจ้าเป็นพระอรหันต์และมีฤทธิ์ ก็จงขึ้นไปปลดบาตรที่ข้าพเจ้าให้แล้วเถิด
เช้าวันรุ่งขึ้น พระมหาโมคคัลลานะ กับพระปิณโฑลภารทวชะ เข้าไปบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ ได้ทราบข่าวนั้น พระปิณโฑลภารทวาชะจึงกล่าวกับท่านพระโมคคัลลานะว่า ไปเถิดท่าโมคคัลลานะ จงปลดบาตรนั้นลง บาตรนั้นเป็นของท่าน
พระโมคคัลลานะ ก็กล่าวกับพระปิณโฑลภารทวาชะว่า ไปเถิดท่านภารทวชะจงปลดบาตรนั้นลง บาตรนั้นเป็นของท่าน ดังนั้น พระปิณโฑลภารทวชะ จึงเหาะขึ้นสู่เวหาส ถือเอาบาตรนั้นเวียนรองกรุงราชคฤห์ 3 รอบ
ราชคหเศรษฐีพร้อมกับบุตรภรรยา ยืนอยู่ในเรื่องของตน เห็นดังนั้นจึงประคองอัญชลีนมัสการ กล่าวนิมนต์ว่า ท่านเจ้าข้า ขอพระคุณเจ้าโปรดลงมายังเรือนของข้าพเจ้าเพื่อรับภัตตาหารด้วยเถิด
ครั้นแล้ว ท่านราชคหเศรษฐี รับบาตรจากมือของพระปิณโฑลภารทวชะ แล้วจัดภัตตาหารอันประณีตถวาย พระปิณโฑลภารทวาชะรับบาตรนั้นแล้วกลับไปสู่พระอาราม
ชาวบ้านทราบข่าวว่าพระปิณโฑลภารทวชะ ปลดบาตรของราชคหเศรษฐีไปแล้ว จึงพากันติดตามพระปิณโฑลภารทวาชะไป พระผู้มีพระภาคเจ้าสดับเสียงอึกทึกเกรียวกราวจึงตรัสถามพระอานนท์ว่า นั่นเสียงอึกทึกเกรียวกราวเนื่องจากเหตุใด พระอานนท์ กราบทูลความให้ทรงทราบแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ ทรงติเตียนว่า ภารทวาชะ การกระทำของเธอนั่นไม่เหมาะ ไม่ควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ไฉนเธอจึงได้แสดงอิทธิปาฏิหาริย์แก่พวกคฤหัสถ์เพราะเหตุแห่งบาตรไม้จันทน์ ซึ่งเปรียบประดุจซากศพเล่า การกรทำของเธอไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของเหล่าชนที่ยังไม่เลื่อมใส ครั้งแล้วรับสั่งแก่ภิกษุทั้งหลายว่า พวกเธอไม่พึงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ อันเป็นคุณวิเศษของพระอริยะแก่พวกคฤหัสถ์ รับสั่งให้ทำลายบาตรไม้จันทน์แดงนั้น แล้วนำมาบดให้ละเอียด เพื่อใช้เป็นเภสัชของเหล่าภิกษุ
มีพระประสงค์จะแสดงยมกปาฏิหาริย์
ต่อมา พระบรมศาสดามีพระประสงค์จะแสดงยมกปาฏิหาริย์ พระเจ้าพิมพิสารได้สดับดังนั้น จึงเข้าไปทูลถามว่า พระองค์ทรงห้ามมิให้ภิกษุแสดงปาฏิหาริย์ เหตุใดจึงมีพระประสงค์ที่จักแสดงด้วยพระองค์เอง พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า เราห้ามพวกภิกษุแต่มิได้ห้ามตัวเราเอง ยมกปาฏิหาริย์นี้ เป็นปาฏิหาริย์ของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
พระราชาทูลถามว่า พระองค์จักทรงทำปาฏิหาริย์เมื่อใด พระเจ้าข้า
พระบรมศาสดาตรัสว่า มหาบพิตร ในวันเพ็ญเดือน ๘ สี่เดือนต่อจากนี้ไป
พระราชาทูลถามอีกว่า พระองค์จักทรงแสดงที่ไหน พระเจ้าข้า
พระบรมศาสดาตรัสว่า ตถาคตจักแสดงที่กรุงสาวัตถี
มีคำถามว่า เหตุใด พระบรมศาสดาจึงอ้างสถานที่ไกลเช่นนั้น
ตอบว่า เพราะที่กรุงสาวัตถี เป็นสถานที่กระทำยมกปาฏิหาริย์ของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ อีกประการหนึ่ง ทรงทราบว่ามหาชนในสมาคมนั้นจักมีผู้บรรลุธรรมมากมาย
เดียรถีย์เตรียมแสดงปาฏิหาริย์แข่ง
เหล่าเดียรถีย์ได้ฟังข่าวว่า ต่อจากนี้ไป ๔ เดือน พระสมณโคดมจักแสดงปาฏิหาริย์ ณ กรุงสาวัตถี จึงคิดว่าพวกเราจักตามไป แล้วบอกแก่มหาชนว่า เราก็จักแสดงปาฏิหาริย์แข่งกับพระสมณโคดม จึงชักชวนอุปัฏฐากได้ทรัพย์แสนหนึ่ง แล้วให้จัดสร้างมณฑปที่ชานกรุงสาวัตถี ประกาศว่าพวกเราจักแสดงปาฏิหาริย์เช่นกัน
ต่อมา พวกเดียรถีย์ทราบความว่า พระบรมศาสดาจักแสดงปาฏิหาริย์ที่ควงไม้มะม่วง จึงสั่งการให้พวกศิษย์ของตนโค่นต้นมะม่วงรอบกรุงสาวัตถี โดยที่สุดแม้จะเพิ่งงอกในวันนั้น ในที่ระหว่างโยชน์หนึ่ง เว้นแต่ในพระราชอุทยานอันเป็นเขตหวงห้ามของพระราชา
ในวันเพ็ญเดือน ๘ พระศาสดาเสด็จไปยังกรุงสาวัตถี ผู้รักษาอุทยานของพระราชาชื่อ คัณฑะ เห็นมะม่วงสุกผลใหญ่ผลหนึ่งอยู่บนต้น ในพระราชอุทยาน จึงไล่บรรดาวิหคที่มาชุมนุมด้วยความโลภในกลิ่นและรสแห่งมะม่วงนั้นให้หนีไป แล้วคิดจะนำผลมะม่วงสุกนั้นไปถวายแก่พระเจ้าปเสนทิโกศล ครั้งได้พบพระบรมศาสดาในระหว่าทาง นายคัณฑะคิดว่าหากเราถวายมะม่วงผลนี้แก่พระราชา พระองค์ก็คงจะพระราชทานกหาปณะแก่เราเพียง 8 หรือ 16 กหาปณะ ก็กหาปณะเท่านั้นไม่พอแก่การเลี้ยงชีพในอัตภาพหนึ่งของเรา แต่หากว่าเราถวายมะม่วงผลนี้แก่พระบรมศาสดา นั่นเป็นคุณที่จักนำประโยชน์เกื้อกูลมาให้แก่เราตลอดกาล นายคัณฑะจึงน้อมถวายมะม่วงผลนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า
พระบรมศาสดาทรงรับบาตรจากพระอานนท์ โน้มบาตรเข้าไปรับผลมะม่วง และแสดงอาการจะประทับนั่ง พระอานนท์จึงปูอาสนะถวาย เมื่อพระองค์ประทับนั่งบนอาสนะนั้นแล้ว พระอานนท์กรองน้ำ ขยำมะม่วงสุกผลนั้นทำเป็นน้ำปานะถวาย พระผู้มีพระภาคเจ้าเสวยน้ำปานะนั้นแล้วตรัสกับนายคัณฑะว่า เธอจงขุดหลุม แล้วปลูกเมล็ดมะม่วงลงในหลุมนั้น
ประวัติคัณฑามพพฤกษ์
พระบรมศาสดาทรงล้างพระหัตถ์ลงในหลุมเมล็ดมะม่วง ทันใดนั้น ต้นมะม่วงก็งอกขึ้นมา และเจริญเติบโต แผ่กิ่งก้านสาขาออกไปทันที มะม่วงต้นนั้นอุดมไปด้วยผลที่ยังดิบและผลที่สุกงอมแล้ว เหล่าภิกษุผู้ตามเสด็จ ก็ยังได้ฉันน้ำปานะที่ทำจากผลมะม่วงสุกนั้นเช่นกัน
พระราชาทรงสดับข่าวว่า ต้นมะม่วงเห็นปานนี้เกิดขึ้นแล้วใกล้ประตูเมือง จึงสั่งตั้งการอารักขา มีพระดำรัสว่า ห้ามมิให้ผู้ใดทำลาย มะม่วงต้นนั้นจึงได้นามว่า คัณฑามพพฤกษ์ ตามนามของนายคัณฑะผู้ปลูก
ท้าวสักกะทำลายพิธีของเดียรถีย์
ครั้งนั้น ท้าวสักกะทรงสั่ง วาตเทวบุตร ให้ถอนมณฑปของพวกเดียรถีย์เสียด้วยลม ทรงสั่ง สุริยเทวบุตร ให้ขยายมณฑลแห่งดวงอาทิตย์ให้เร่ร้อน แล้วสั่ง วาตเทวบุตร อีกว่า ท่านจงยังมณฑลแห่งลมให้ตั้งขึ้นไปเถิด เทวบุตรได้กระทำเช่นนั้น โปรยเกลียวธุลีลงบนสรีระของพวกเดียรถีย์ที่มีเหงื่อไหลด้วยแสงแห่งดวงอาทิตย์ เดียรถีย์เหล่านั้น ได้เป็นเช่นกับจอมปลวกแดง ท้าวสักกะจึงทรงสั่ง วัสสเทวบุตร ให้หยาดน้ำเม็ดใหญ่ๆตกลงมา ทีนั้น กายของพวกเดียรถีย์ได้เป็นเช่นกับแม่โคด่าง บังเกิดความละอายต่อเหล่าชนที่เฝ้าดูอยู่ ต่างพากันแตกหมู่หนีไป
ชาวนาผู้หนึ่ง ซึ่งเป็นอุปัฏฐากของปูรณกัสสปะ คิดว่า บัดนี้เป็นเวลาทำปาฏิหาริย์แห่งพระผู้เป็นเจ้าของเรา เราจักไปดูปาฏิหาริย์นั้น จึงวางไถแล้วปล่อยโคให้ไปหากินโดยอิสระ ตนเองถือเอาหม้อยาคูและเชือกเดินมา ปูรณกัสสปะพบชาวนาผู้นั้นในระหว่างทาง ได้เอ่ยปากขอเชือกและหม้อยาคูของชาวนาผู้อุปัฏฐากนั้น เดินไปยังฝั่งแม่น้ำ ใช้เชือกผูกปากหม้อแล้วผูกเข้าที่คอตนเอง กระโดดลงไปในห้วงน้ำ ปูรณกัสสปะทำกาละไปบังเกิดในอเวจีแล้ว
ครั้นเวลาบ่าย พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จดำเนินมายังสถานที่นั้น ด้วยทรงดำริว่า บัดนี้เป็นเวลาแสดงปาฏิหาริย์ จึงเข้าไปประทับภายใต้ร่มเงาของคัณฑามพพฤกษ์ เบื้องหน้าบริษัทที่มาประชุมกันมากมายจนนับจำนวนมิได้ เพื่อดูปาฏิหาริย์
สาวกสาวิกาอาสาแสดงปาฏิหาริย์แทน
ครั้งนั้นอนาคามีอุบาสิกาชื่อ ฆรณี เข้าไปเฝ้าพระพุทธองค์ กราบทูลว่า เมื่ออุบาสิกาเช่นหม่อมฉันมีอยู่ กิจที่พระองค์ต้องลำบากย่อมไม่มี หม่อมฉันขอรับอาสาแสดงปาฏิหาริย์แทนพระองค์ พระเจ้าข้า
พระพุทธองค์ตรัสถามว่า เธอจักแสดงเช่นไร
อุบาสิกากราบทูลว่า หม่อมฉันจักทำผืนดินให้กลายเป็นผืนน้ำ แล้วจะดำลงไปแหวกว่าย เช่นเดียวกับนกน้ำทั้งหลาย แสดงตนให้เหล่ามหาชนเห็นว่าอานุภาพของหญิงยังเพียงนี้
พระพุทธองค์ตรัสว่า ฆรณี เราย่อมทราบความที่เธอเป็นผู้สามารถแสดงปาฏิหาริย์เช่นนั้นได้ แต่ในครั้งนี้มิใช่วาระที่เธอจะต้องแสดงแทนเรา
จากนั้น อุบาสกชื่อจุลอนาถบิณฑิกะ สามเณรีอายุ ๗ ขวบผู้บรรลุปฏิสัมภิทาชื่อจีรา สามเณรขีณาสพชื่อจุนทะ พระอุบลวรรณาเถรี และพระโมคคัลลานะเถระ ต่างก็รับอาสาแสดงปาฏิหาริย์แทนเช่นเดียวกัน
พระพุทธองค์ตรัสว่า เราทราบอานุภาพของพวกเธอ แต่ในครั้งนี้มิใช่วาระที่พวกเธอจะต้องแสดงแทนเรา
พระบรมศาสดาตรัสดังนั้นแล้ว เสด็จขึ้นสู่ที่จงกรม ทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์
ลักษณะของยมกปาฏิหาริย์
ยมกปาฏิหาริย์ คือ ปาฏิหาริย์ที่แสดงพร้อมกันเป็นคู่ อันเป็นปาฏิหาริย์เฉพาะของพระพุทธเจ้าทั้งหลายเท่านั้น
ลักษณะของยมกปาฏิหาริย์มีดังนี้
เปลวไฟพลุ่งออกจากพระกายเบื้องบน สายธารพลุ่งออกจากพระกายเบื้องล่าง
เปลวไฟพลุ่งออกจากพระกายเบื้องล่าง สายธารพลุ่งออกจากพระกายเบื้องบน
เปลวไฟพลุ่งออกจากพระกายเบื้องหน้า สายธารพลุ่งออกจากพระกายเบื้องหลัง
เปลวไฟพลุ่งออกจากพระกายเบื้องหลัง สายธารพลุ่งออกจากพระกายเบื้องหน้า
เปลวไฟพลุ่งออกจากพระเนตรเบื้องขวา สายธารพลุ่งออกจากพระเนตรเบื้องซ้าย
เปลวไฟพลุ่งออกจากพระเนตรเบื้องซ้าย สายธารพลุ่งออกจากพระเนตรเบื้องขวา
โดยทำนองเดียวกันนี้ เปลวไฟและสายธาร พลุ่งออกจากเบื้องซ้ายและเบื้องขวาของช่องพระกรรณ ช่องพระนาสิก พระอังสะ พระหัตถ์ พระปรัศว์ พระบาท พระองคุลี ขุมพระโลมาแต่ละขุม และในพระวรกายส่วนอื่นๆของพระพุทธองค์ตั้งแต่พระศอลงไปจนถึงพระบาท
ในมธุรัตถวิลาสินี อรรถกถา พุทธวงศ์ หน้า ๙๙-๑๐๒ กล่าวไว้ว่า
เปลวไฟ พลุ่งออกด้วยอำนาจของ เตโชกสิณสมาบัติ
สายธาร พลุ่งออกด้วยอำนาจของ อาโปกสิณสมาบัติ
เปลวไฟและสายธาร พลุ่งออกจาทุกส่วนของพระวรกายโดยมิได้ปะปนกัน
ในขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค เล่มที่ ๗ ภาค ๑ หน้า ๑๐๙๑-๑๐๙๙ กล่าวว่า
พระฉัพพรรณรังสี ซ่านออกจากพระวรกาย ในขณะที่ทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์ คือ
รัศมีสีเขียว ซ่านออกจากพระเกสา พระมัสสุ และพระเนตร ดุจสีดอกอุบลเขียว
รัศมีสีเหลือง ซ่านออกจากพระฉวี และพระเนตร ดุจสีดอกสุพรรณิการ์
รัศมีสีแดง ซ่านออกจากพระมังสะ พระโลหิต ดุจสีดอกชัยพฤกษ์
รัศมีสีขาว ซ่านออกจากพระอัฐิ พระทนต์ ดุจสีดอกมะลิซ้อน
รัศมีสีแสด ซ่านออกจากฝ่าพระหัตถ์ ฝ่าพระบาท ดุจสีดอกทองกวาว
รัศมีสีเลื่อมประภัสสร ซ่านออกจากพระอุณาโลม พระทาฐะ และพระนขา ดุจสีของดวงอาทิตย์แรกขึ้น
การอธิษฐานพระรัศมีของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น เมื่อต้องการรัศมีเขียว พระองค์ย่อมทรงเข้า นีลกสิณสมาบัติ เมื่อต้องการรัศมีสีเหลือง ย่อมทรงเข้า ปีตกสิณสมาบัติ เป็นต้น
เปลวไฟและสายธาร พลุ่งขึ้นไปจนถึงพรหมโลก แล้วไหลลามไปทั่วจักรวาล พระฉัพพรรณรังสี (รัศมี 6 ประการ) แผ่ออกไปจากห้วงแห่งจักรวาล จนจรดพรหมโลก
พระบรมศาดาทรงทราบวาระจิตของเหล่ามหาชนว่า บุคคลใดเลื่อมใสในธรรมใด ปาฏิหาริย์ใด ก็ทรงแสดงธรรมนั้น ปาฏิหาริย์นั้น ด้วยอำนาจอัธยาศัยแห่งบุคคลนั้นๆ
จากนั้น ทรงเนรมิตพระพุทธนิรมิต ซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับพระองค์ทุกประการ เว้นแต่อยู่ในอิริยาบถต่างกัน คือ
ขณะที่พระบรมศาสดาทรงจงกรม พระพุทธนิรมิตจัก ยืน หรือนั่ง หรือนอน
ขณะที่พระบรมศาสดาประทับยืน พระพุทธนิรมิตจัก จงกรม หรือนอน หรือนั่ง
ขณะที่พระบรมศาสดาประทับนั่ง พระพุทธนิรมิตจัก จงกรม หรือยืน หรือนอน
ขณะที่พระบรมศาสดาทรงไสยาสน์ พระพุทธนิรมิตจัก จงกรม หรือยืน หรือนั่ง
เมื่อเสร็จสิ้นการแสดงยมกปาฏิหาริย์ และการแสดงธรรมแล้ว ธรรมาภิสมัยได้มีแก่สัตว์โลกที่มาประชุมกัน ๒๐ โกฏิ ในสมาคมนั้น
เรียบเรียงจากหนังสือ พระพุทธประวัติ โดย สุรีย์ มีผลกิจ
กลับไปที่ภาพชุดที่ ๔ |