ภาพวาดพุทธเจดีย์


พระพุทธเจดีย์ในประเทศไทย

พระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ
ภาพที่-1-พระสมุทรเจดีย์

พระสมุทรเจดีย์ ตั้งอยู่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก ในเขตตำบลปากคลองบางปลากด อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ ตามประวัติกล่าวว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ ๒) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์กับเจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค) เป็นแม่กองจัดสร้างป้อมปราการจำนวน ๖ ป้อม ใช้เวลาในการก่อสร้างทั้งหมด ๓ ปีจึงแล้วเสร็จ เมื่อสร้างป้อมเสร็จแล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ กับเจ้าพระยาพระคลัง เป็นผู้อำนวยการสร้างพระเจดีย์ขึ้นที่เกาะหาดทรายท้ายป้อมผีเสื้อสมุทร เพื่อเป็นอนุสรณ์ในการที่พระองค์ทรงสละพระราชทรัพย์ เพื่อปกป้องประเทศชาติและพระศาสนา โดยโปรดฯ ให้กรมพระราชวังสถานมงคลมหาศักดิพลเสพ กับพระยาราชสงครามเขียนแบบแผนผังรูปพระเจดีย์ถวาย แล้วทรงเฉลิมพระนามว่า “ พระสมุทรเจดีย์ ” แต่ยังมิได้ทันก่อสร้างก็เสด็จสวรรคตเสียก่อน เมื่อสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓) จึงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เจ้าพระยาศรีธรรมราชกับเจ้าพระยาพระคลังเป็นแม่กองจัดสร้างต่อการก่อสร้างเริ่มเมื่อวันอังคาร ขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๑๒ (ตรงกับวันที่ ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๓๗๐) แล้วเสร็จเมื่อวันพุธ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๗ (ตรงกับวันที่ ๒ พฤษภาคม พ.ศ.๒๓๗๑) ลักษณะขององค์พระสมุทรเจดีย์ที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลนี้เป็นเจดีย์รูปสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง ต่อมาได้มีผู้ร้ายลักลอบขุดองค์ระฆังลักเอาพระบรมธาตุที่บรรจุอยู่ภายในไป

สมัยรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ช่างไปถ่ายแบบพระเจดีย์ที่กรุงศรีอยุธยามาจัดการก่อสร้างสวมทับพระเจดีย์รูปเดิมไว้ โดยลักษณะเป็นเจดีย์ทรงกลมวัดจากฐานล่างจนถึงยอดสูงสุด ๑๙ วา จากนั้นจึงอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ ๑๒ องค์ จากพระบรมมหาราชวังมาบรรจุไว้แทนของเดิมที่สูญหายไป ในการนี้ได้โปรดฯให้สร้างศาลาเก๋งจีน หอเทียน หอระฆัง พระวิหารพร้อมด้วยพระพุทธรูปปางห้ามสมุทร กับหลักผูกเรือริมน้ำรอบองค์พระสมุทรเจดีย์ ฯลฯ สิ้นพระราชทรัพย์ในการก่อสร้าง ๕๘๘ ชั่งเศษ และในรัชกาลต่อมาก็ได้มีการทำนุบำรุง และบูรณะปฏิสังขรณ์พระสมุทรเจดีย์มาโดยตลอด กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนพระสมุทรเจดีย์เป็นโบราณสถานของชาติ ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๒ ตอนที่ ๗๕ วันที่ ๘ มีนาคม ๒๔๘๗ และเล่ม ๑๑๐ ตอนที่ ๑๘๖ วันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๓๖

ที่มา : กรมศิลปากร

พระธาตุพนม จังหวัดนครพนม
ภาพที่-2-พระธาตุพนม

องค์พระธาตุพนม ตั้งอยู่ภายในวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร ตำบลธาตุพนม อำเภอธาตุพนม จังหวัด นครพนม สถานที่ตั้งขององค์พระธาตุเป็นเนินดินสูงกว่าบริเวณโดยรอบประมาณ ๒ เมตร เนินดินอันเป็นที่ตั้งขององค์พระธาตุพนมนี้กล่าวเรียกในตำนานว่า “ภูกำพร้า” ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของแม่น้ำโขง (ห่างประมาณ ๖๐๐ เมตร) ทิศตะวันออก ติดถนนชยางกูร (ถนนสายนครพนม-อุบลราชธานี) ห่างจากถนนสายนี้ไปทางทิศ ตะวันออกจะพบบึงน้ำกว้างประมาณ ๓๐๐ เมตร ยาวขนานไปกับแม่น้ำโขง เรียกกันในท้องถิ่นว่า “บึงธาตุ” และเชื่อกันว่าบึงนี้ถูกขุดขึ้นในอดีตเพื่อนำเอาดิน ที่ได้มาปั้นอิฐก่อองค์พระธาตุพนมขึ้น

ตามตำนานพระธาตุพนมกล่าวไว้ว่า องค์พระธาตุพนมนี้สร้างครั้งแรกเมืองราว พ.ศ.๘ ขณะที่อาณาจักรศรีโคตรบูรณ์ กำลังเจริญรุ่งเรือง โดยเจ้าผู้ครองนครในแคว้นต่าง ๆ ทั้ง ๕ มีพญาศรีโคตรบูรณ์ เป็นต้น และพระอรหันต์ ๕๐๐ องค์ ซึ่งมีพระมหากัสสปเถระเป็นประมุข เมื่อสร้างเสร็จแล้วก็ได้อัญเชิญพระอุรังคธาตุ (กระดูกส่วนหน้าอก) ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่พระมหากัสสปเถระนำมาจากอินเดียประดิษฐานไว้ข้างใน

อย่างไรก็ตามถึงแม้ตามตำนานจะกล่าวว่าพระธาตุพนมถูกสร้างขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. ๘ แต่จากหลักฐานทางโบราณคดีเท่าที่ปรากฏ สันนิษฐานได้ว่าองค์พระธาตุพนมน่าจะถูกสร้างขึ้นในช่วงราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒–๑๔ หลักฐานสำคัญที่ยังคงปรากฏให้เห็นอยู่ คือ ภาพสลักอิฐแบบโบราณที่ประดับอยู่บริเวณส่วนเรือนธาตุของพระธาตุพนมอันมีลักษณะรูปแบบคล้ายศิลปะทวารวดีแบบฝีมือของช่างพื้นเมือง

องค์พระธาตุพนมได้รับการบูรณะมาหลายครั้ง โดยเฉพาะตั้งแต่สมัยของพระเจ้าโพธิศาลราช แห่งอาณาจักรล้านช้าง (ราว พ.ศ.๒๐๗๒-๒๑๐๓) พระองค์ได้เสด็จลงมาบูรณะและสถาปนาวัดพระธาตุพนมขึ้นเป็นพระอารามหลวงจากนั้นเป็นต้นมาจึงได้เกิดเป็นประเพณีที่ผู้ครองอาณาจักรล้านช้างในสมัยต่อๆ มาจะลงมาบูรณะปฏิสังขรณ์วัดพระธาตุพนมเป็นประจำแทบทุกพระองค์ การบูรณะครั้งสำคัญที่ควรกล่าวถึงคือ การบูรณะของท่านราชครูโพนสะเม็กจากเมืองเวียงจันทร์ เมื่อ พ.ศ.๒๒๓๓-๒๒๓๕ โดยช่างจากนครเวียงจันทร์ ในการบูรณะครั้งนี้ทำให้พระธาตุพนมได้รับอิทธิพลรูปแบบส่วนยอดมาจากพระธาตุหลวงที่นครเวียงจันทร์ ซึ่งน่าจะเป็นการกำหนดรูปแบบที่แน่นอนขององค์พระธาตุพนมตั้งแต่นั้นมา และได้กลายเป็นแบบฉบับของงานก่อสร้างองค์พระธาตุในภาคอีสานตอนบน

ที่มา : กรมศิลปากร

พระธาตุเชิงชุม จังหวัดสกลนคร
ภาพที่-3-พระธาตุเชิงชุม-สกลนคร

พระธาตุเชิงชุม ตั้งอยู่ภายในบริเวณวัดพระธาตุเชิงชุม ในเขตเทศบาลเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร พื้นที่ของบริเวณที่ตั้งองค์พระธาตุเชิงชุม เป็นบริเวณเนินที่ลาดเอียงลงสู่ขอบหนองหานซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือห่างไปไม่ถึง ๑ กิโลเมตร จัดเป็นพระธาตุที่ตั้งอยู่ภายในตัวเมืองเก่าสกลนครซึ่งมีความสำคัญมากที่สุดองค์หนึ่งของชาวสกลนคร

ความเป็นมาของชื่อพระธาตุเชิงชุมมีความเกี่ยวพันกับตำนานอุรังคธาตุซึ่งถือเป็นตำนานสำคัญฉบับหนึ่งของภูมิภาคอีสาน ที่อธิบายถึงการกำเนิดปูชนียสถานต่างๆ หลายแห่ง สำหรับเนื้อหาจากตำนานและเรื่องเล่าที่เกี่ยวกับพระธาตุเชิงชุมที่ย้อนเหตุการณ์ไปถึงครั้งพระพุทธองค์ (สมณโคดม) ยังมีพระชมน์อยู่นั้น พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ได้เคยสรุปเอาไว้แล้ว ซึ่งขอคัดข้อความมา ดังนี้

ในสมัยพญาสุวรรณภิงคารขึ้นครองเมืองหนองหานนั้น เป็นช่วงระยะเวลาตอนปลายแห่งพระชนมชีพของพระพุทธเจ้าองค์ที่ ๔ (พระสมณโคดม) ในครั้งนั้นพระพุทธองค์พร้อมด้วยพระอรหันต์ผู้เป็นสาวก ได้เสด็จจากสวนเชตะวันในประเทศอินเดียมาทางตะวันออก และมาประทับที่ดอยนันทกังรีเมืองหลวงพระบาง โปรดสัตว์มาตามลำน้ำโขง ประทับรอยพระบาทมาโดยลำดับ มีพระบาทบัวบกบนภูพาน จังหวัดอุดรธานี พระบาทโพนฉันโพนเพลทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ตรงข้ามกับอำเภอโพนพิสัยจังหวัดหนองคาย พระบาทเวินปลา ที่อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม แล้วมาพักแรมที่ภูกำพร้าอันเป็นที่ตั้งพระธาตุพนม จังหวัดนครพนม แล้วเสด็จไปบิณฑบาตที่เมืองศรีโคตรบูร ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง หลังจากนั้นจึงเสด็จกลับโดยอ้อมมาทางทิศตะวันตกขึ้นเหนือหนองหานหลวง โปรดเทศนาให้พญาสุวรรณภิงคารทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา และที่ภูน้ำรอดนั้น ทรงประทับพระบาททับซ้อนลงบนแผ่นศิลาที่มีรอยพระบาท ซึ่งอดีตพระพุทธเจ้าได้เคยประทับรอยพระบาทของแต่ละพระองค์ซ้อนๆ กัน ไว้แล้ว ๓ รอย และทรงตรัสแก่พญาสุวรรณภิงคารว่า ในอนาคต ยังจะมีพระพุทธเจ้าองค์ที่ ๕ คือ พระศรีอริยเมตไตรย จะได้เสด็จมาประทับรอยพระบาทซ้อนเข้าไว้เป็นรอยที่ ๕ อีกด้วย

พญาสุวรรณภิงคารได้ทรงสดับดันนั้น ทรงมีปิติโสมนัสเป็นอันมาก จึงถอดมงกุฎทองคำน้ำหนักแสนตำลึง สวมลงบูชารอยพระพุทธบาทแผ่นศิลาและเมื่อพระพุทธองค์ได้เสด็จกลับไปแล้วพญาสุวรรณภิงคารจึงทรงโปรดให้สร้างเจดีย์ก่อด้วยหิน สวมครอบลงบนตำแหน่งอันเป็นที่ประทับรอยพระพุทธบาทนั้น (พิเศษ เจียจันทร์พงษ์,๒๕๓๒, หน้า ๙๖-๙๗ และดูเพิ่มเติมได้ใน เติม วิภาคย์พจนกิจ ๒๕๓๐,หน้า ๒๗๓-๒๗๖)
สำหรับชื่อของ “ พระธาตุเชิงชุม” นั้น สามารถจำแนกคำเพื่อแปลความหมายได้ว่า

  • “ พระธาตุ” หมายถึง เจดีย์ที่บรรจุสิ่งศักดิ์สิทธิ์อันเป็นผลตกทอดมาจากพระพุทธองค์
  • “เชิง” หมายถึง เป็นคำสุภาพในภาษาไทยที่มีความหมายถึง ตีน (เช่น เชิงเขา คือ ตีนเขา เป็นต้น)
  • “ ชุม” หมายถึง คำที่เรียกสั้นลงมาจากคำว่า ประชุม หรือชุมนุม

ด้วยเหตุนี้จึงแปลความชื่อของพระธาตุเชิงชุมได้ว่า เจดีย์อันเป็นที่ ๆ รอยพระบาทของพระพุทธเจ้ามารวมกันอยู่ (พิเศษ เจียจันทร์พงษ์, ๒๕๓๒, หน้า ๙๗)

ที่มา : กรมศิลปากร

พระบรมธาตุดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่
ภาพที่-4-พระบรมธาตุดอยสุเทพ-เชียงใหม่

พระบรมธาตุดอยสุเทพเป็นปูชนียสถานที่สำคัญยิ่งของเมืองเชียงใหม่ ประดิษฐานอยู่บนดอยสุเทพ สูงจากระดับน้ำทะเล ๑๐๐๐ เมตร ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของตัวเมือง ห่างจากตัวเมืองเก่าประมาณ ๑๐ กิโลเมตร สามารถมองเห็นจากตัวเมืองได้ชัดเจน และเมื่อขึ้นไปอยู่ที่พระบรมธาตุ ก็จะเห็นตัวเมืองเชียงใหม่ได้ทั้งหมด มีบันไดนาคเจ็ดเศียรทอดจากทางขึ้นไปถึงซุ้มประตูวัด จำนวน ๓๐๐ ขั้น ครูบาศรีวิชัยได้บอกบุญชักชวนชาวเหนือ ให้ช่วยกันสร้างถนนจากเชิงดอยไปจนถึงยอดดอย ณ ที่ตั้งพระบรมธาตุ

ตามตำนานกล่าวว่า เป็นที่ประดิษฐานพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้า ซึ่งได้เสด็จมายังดอยอุจฉุปัพพต เพื่อฉันภัตตาหาร พร้อมด้วยพระสาวก ณ ที่นี้มีย่าและแม่ลูกได้ตักบาตรถวายภัตตาหารแด่พระพุทธเจ้า พระองค์จึงมอบพระเกศาธาตุให้ประดิษฐานไว้ที่ดอยแห่งนี้ ตามประวัติพระเจ้ากือนา กษัตริย์พระองค์ที่ ๘ ของ ราชวงศ์เชียงราย ได้พระบรมสารีริกธาตุส่วนพระเศียร จากพระมหาเถรองค์หนึ่งที่ได้นำมาจากเมืองสุโขทัย ในชั้นต้น พระองค์ได้ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุนี้ไว้ที่วัดสวนดอก

ต่อมาปรากฎว่า พระบรมสารีริกธาตุได้แสดงปาฏิหารย์ แยกออกเป็น ๒ องค์ ขนาดเท่าเดิม พระเจ้ากือนา จึงได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุดังกล่าวขึ้นบนหลังช้างทรง และตั้งบารมีเสี่ยงช้าง ช้างทรงได้เดินขึ้นไปบนดอยสุเทพ ครั้นถึงบริเวณที่ตั้งวัดพระบรมธาตุ ฯ ปัจจุบัน ช้างทรงนั้นก็กระทืบเท้าส่งเสียงร้องไปทั่วบริเวณ แล้วล้มลง ณ ที่นั้น พระเจ้ากือนา จึงให้สร้างพระบรมสารีริกธาตุขึ้น ณ ที่นั้น เมื่อปี พ.ศ. ๑๙๒๗ เป็นเจดีย์แบบเชียงแสนผสมลังกา

ที่มา : http://www.doisuthep.com/

พระบรมธาตุหริภุญไชย จังหวัดลำพูน
ภาพที่-5-พระบรมธาตุหริภุญไชย-ลำพูน

พระบรมธาตุหริภุญชัย เป็นปูชนียสถานสำคัญในภาคเหนือ และเป็นมิ่งขวัญ ของชาวลำพูน ตั้งอยู่ในวัดพระธาตุหริภุญชัย กลางเมืองลำพูน ภายในวัดเป็นลานกว้าง มีวิหารหลายหลัง หอระฆัง ปรากฏในตำนานว่า สร้างขึ้นในรัชสมัย พระเจ้าอาทิตยราช กษัตริย์นครหริภุญชัย ราว พ.ศ. ๑๕๘๖ พระเจ้าอาทิตยราช เป็นกษัตริย์ในราชวงศ์รามัญ ทรงมีพระปรีชาสามารถ และกล้าหาญในการสงครามมาก การที่ทรงพบพระบรมสารีริกธาตุ และทรงสร้างพระธาตุหริภุญชัยขึ้นเพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ อันมี ธาตุกระหม่อม ธาตุกระดูกอก ธาตุกระดูกนิ้วมือ และธาตุย่อยอีกเต็มบาตรหนึ่ง ตามพุทธทำนายลักษณะทางสถาปัตยกรรมขององค์พระธาตุหริภุญชัย ตามที่ปรากฏในหนังสือตำนานพระธาตุหริภุญชัย กล่าวว่า มีลักษณะ เป็นสถูปสี่เหลี่ยมทรงปราสาท ที่มีซุ้มทวาร เข้า-ออกทะลุกันได้ทั้งสี่ด้าน มีปราสาทสี่เหลี่ยมอยู่ตรงมุมละองค์ก่อด้วยศิลาแลงซึ่งเป็นวัตถุดิบที่มีมากอยู่ในเมืองนี้ ภายในเป็นแท่น สำหรับประดิษฐาน พระโกศที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ

ในสมัยของพญาสรรพสิทธิ์ กษัตริย์แห่งราชวงศ์จามเทวีวงศ์ โปรดให้ปฏิสังขรณ์เจดีย์เดิมที่พระเจ้าอาทิตยราชทรงสร้างไว้และได้ขุดร่องทวารประตูเข้า-ออก ทั้งสี่เพื่อความปลอดภัย รูปทรงสัณฐานขององค์พระบรมธาตุยังคงเป็นลักษณะเดิม คือ เป็นทรงปราสาทสี่เหลี่ยมที่กว้างใหญ่และสูง เมื่อ พญามังราย ตีเมืองหริภุญชัยได้ โปรดให้ซ่อมแซมดัดแปลงองค์พระธาตุขึ้นใหม่ การปฏิสังขรณ์ครั้งนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงทรวดทรง ขององค์พระธาตุฯ จากทรงปราสาทกลายเป็นทรงเจดีย์ฐานกลมแบบทรงลังกา ในสมัยของพระเจ้าแสนเมืองมาประมาณปีพุทธศักราช ๑๙๕๑ โปรดให้มีการปิดทององค์พระธาตุ ในปีพุทธศักราช ๑๙๙๐ พระเจ้าติโลกราชกษัตริย์องค์สำคัญแห่งเมืองเชียงใหม่ ทรงร่วมกับพระมหาเมธังกรเถระ ก่อพระมหาเจดีย์ให้สูงขึ้นเป็น ๙๒ ศอก กว้างยาวขึ้น ๕๒ ศอก เป็นรูปร่างที่เห็นเป็นอยู่ในปัจจุบัน

ที่มา : http://www.hariphunchaitemple.org