About


เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นโดยนิสิตปริญญาโท บัณฑิตวิทยาลัย(สหสาขาวิชา) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิตหลักสูตรธุรกิจเทคโนโลยีและการจัดการนวัตกรรม (Technoprenuership and Innovation Management Program) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย “เพื่อจำลองต้นแบบระบบสารสนเทศเพื่อนำเสนอข้อมูลเนื้อหาของงานศิลปกรรมภายในพระอุโบสถ : กรณีศึกษาวัดจากแดง จ.สมุทรปราการ”
ความเป็นมาและความสำคัญของโครงการ

วัดในพระพุทธศาสนาเป็นสถานที่สำคัญซึ่งอยู่คู่กับสังคมไทยมาอย่างยาวนานทั้งในฐานะของสถานที่ปฏิบัติธรรมและพิธีกรรมทางศาสนา รวมถึงเป็นสถานที่รวมตัวพบปะกันระหว่างชาวบ้านในชุมชน นอกจากนี้ภายในวัดยังเป็นศูนย์รวมของงานศิลปะหลายแขนง อาทิเช่น งานภาพวาดบนฝาผนังโบสถ์ หรือสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ภายในวัด งานปฏิมากรรมรูปหล่อองค์พระพุทธรูปหรือพระเกจิอาจารย์ และงานสถาปัตยกรรมปูนปั้นที่สามารถเห็นได้โดยทั่วไปภายในวัด ซึ่งผู้จัดสร้างงานศิลปกรรมมักมีการนำเสนอเนื้อหาแสดงพุทธประวัติ หรือหลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนาผ่านงานศิลปกรรมต่างๆ ดังที่กล่าวมาข้างต้น อย่างไรก็ตามลักษณะการสื่อสารเนื้อหาที่แฝงอยู่เหล่านั้นมักเป็นการถ่ายทอดกันจากรุ่นสู่รุ่น อาศัยการบอกเล่าบรรยายแบบปากต่อปาก หรือหากมีการบันทึกไว้ก็เฉพาะในตำราโบราณที่ถูกจัดเก็บไว้อย่างดี ทำให้ยากต่อการเข้าถึงข้อมูลโดยนักท่องเที่ยว ผู้ที่เดินทางมาเพื่อเยี่ยมชม หรือปฏิบัติธรรม และแม้แต่ชาวบ้านรุ่นใหม่ๆ เอง ซึ่งข้อจำกัดของกระบวนการถ่ายทอดข้อมูลในลักษณะดังกล่าว อาจทำให้เนื้อหาที่ผู้จัดสร้างตั้งใจนำเสนอผ่านงานศิลปกรรมที่อยู่ภายในวัดตกหล่น หรืออาจเลือนหายไปตามกาลเวลา
จากปัญหาข้อจำกัดของการถ่ายทอดข้อมูลและการสื่อสารเนื้อหาเกี่ยวกับงานศิลปกรรมภายในวัด ผู้วิจัยได้วิเคราะห์ปัญหา และศึกษาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องได้แก่ เทคโนโลยีการพัฒนาเว็บไซต์ข้อมูล (Information Site) เป็นเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการจัดเก็บข้อมูลต่างๆ ทั้งตัวหนังสือ ภาพ เสียง และเทคโนโลยีรหัสข้อมูล 2 มิติ แบบ QR Code (Quick Response Code) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการจัดเก็บตัวอักษรที่นำมาประยุกต์ใช้ในการจัดเก็บที่อยู่ของเว็บไซต์เพื่อเชื่อมต่อเข้าสู่เว็บไซต์ข้อมูลได้ง่ายขึ้น ผู้วิจัยจึงเล็งเห็นโอกาสในการนำเทคโนโลยีทั้ง 2 ข้างต้นมาใช้ในการสร้างระบบสารสนเทศเพื่อให้ข้อมูลและการสื่อสารเนื้อหาของงานศิลปกรรมภายในวัด โดยพัฒนาเว็บไซต์เพื่อจัดเก็บข้อมูลเกี่ยวกับศิลปกรรมภายในวัด เช่น เนื้อหาพุทธประวัติ หรือหลักธรรมคำสอนที่แฝงอยู่ในศิลปกรรมภายในวัด รวมทั้งประวัติความเป็นมา ผู้จัดสร้าง ปีที่สร้าง เพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่สนใจ พร้อมทั้งสร้างรหัสข้อมูล 2 มิติ แบบ QR Code เชื่อมต่อไปยังเว็บไซต์ข้อมูลที่พัฒนาขึ้น และดำเนินการติดตั้งไว้บริเวณงานศิลปกรรมภายในวัด โดยนักท่องเที่ยว ผู้ที่เดินทางมาเพื่อเยี่ยมชม ผู้เดินทางมาปฏิบัติธรรม รวมถึงผู้ที่สนใจ สามารถใช้อุปกรณ์มือถือที่ติดตั้งโปรแกรมถอดรหัส QR Code ถ่ายภาพรหัสที่ติดตั้งไว้ เพื่อเข้าไปในศึกษารายละเอียดและเนื้อหาข้อมูลเกี่ยวกับงานศิลปะกรรมนั้นๆ ได้

วัตถุประสงค์โครงการ

  • เพื่อศึกษารูปแบบในการนำเทคโนโลยีการพัฒนาเว็บไซต์ และเทคโนโลยีรหัสข้อมูล 2 มิติ แบบ QR Code มาใช้เชื่อมโยงประกอบกัน เพื่อสร้างระบบสารสนเทศเพื่อนำเสนอข้อมูลเนื้อหาของงานศิลปกรรมภายในพระอุโบสถ
  • จัดทำต้นแบบระบบสารสนเทศเพื่อนำเสนอข้อมูลเนื้อหาของงานศิลปกรรมภายในพระอุโบสถ ด้วยเทคโนโลยีเว็บไซต์ข้อมูล และเทคโนโลยีรหัสข้อมูล 2 มิติ แบบ QR Code
  • เพื่อพัฒนานวัตกรรมระบบสารสนเทศ เป็นต้นแบบ Application สำหรับโทรศัพท์มือถือ Smart Phone เพื่อนำเสนอข้อมูลเนื้อหาของงานศิลปกรรมภายในพระอุโบสถ