Blog Archives


ทรงรับคำเชิญของเทวดา

031-ทรงรับคำเชิญของเทวดา

พระนางมหามายาเทวีทรงสุบินถึงพระโพธิสัตว์ในร่างพญาช้างสีขาวผ่อง ใช้งวงจับดอกปทุมสีขาวชูขึ้นแล้วเปล่งเสียงโกญจนาท

พระโพธิสัตว์ เมื่อได้พิจารณามหาวิโลกนะ 5 ประการนี้แล้ว จึงทรงรับปฏิญญาของเทวดาทั้งหลายว่า เป็นกาลอันสมควรแล้วที่จักเป็นพระพุทธเจ้า ทรงส่งเทวดาเหล่านั้นกลับไปแล้ว เสด็จเข้าไปยังสวนนันทวัน มีเหล่าเทวดาชั้นดุสิตห้อมล้อม คอยเตือนพระโพธิสัตว์ให้รำลึกถึงกุศลกรรมที่ได้กระทำไว้ในกาลก่อน พระโพธิสัตว์เที่ยวไปอยู่ในสวนนันทวันนั้น จุติแล้วถือปฏิสนธิในพระครรภ์ของพระนางมหามายาเทวี

ในวิสุทธชนวิลาสินี อรรถกถา ขุททกนิกาย อปทาน กล่าวว่า ในกาลนั้นกรุงกบิลพัสดุ์ได้จัดงานนักขัตฤกษ์เดือน 8 อย่างเอกเกริก มหาชนต่างพากันเที่ยวชมงานนักขัตฤกษ์นั้น พระนางมหามายาเทวีก็ได้ทรงร่วมเสด็จชมงานนักขัตฤกษ์ ที่เพียบพร้อมด้วยดอกไม้และของหอมเช่นกัน ครั้นถึงวันเพ็ญ พระนางเสด็จจากพระแท่นบรรทมแต่เช้าตรู่ ทรงสละพระราชทรัพย์สี่แสน ถวายมหาทาน ประดับพระองค์ด้วยเครื่องราชอลังการ แล้วทรงอธิษฐานองค์อุโบสถ

ในราตรีนั้น พระนางทรงสุบินว่า ท้าวมหาราชทั้งสี่ได้ยกพระนางขึ้นพร้อมกับพระแท่นไสยาสน์ นำไปยังป่าหิมพานต์ วางพระนางลงบนพื้นมโนศิลาอันกว้างใหญ่ ภายใต้ต้นสาละ แล้วได้ยืนอยู่ ณ ที่ส่วนสุดข้างหนึ่ง ลำดับนั้น เหล่าพระเทวีของท้าวมหาราชทั้งสี่ ต่างพากันมานำพระนางไปยังสระอโนดาต ให้สรงสนานเพื่อที่จะชำระล้างมลทินของมนุษย์ออก แล้วให้นุ่งห่มผ้าทิพย์ลูบไล้ด้วยของหอมและประดับด้วยดอกไม้ทิพย์ ในที่ไม่ไกลจากที่นั้น มีภูเขาเงินอยู่ลูกหนึ่ง ภายในภูเขานั้นมีวิมานทอง เหล่าเทวดาให้ตั้งพระแท่นไสยาสน์อันเป็นทิพย์ มีเบื้องพระเศียรอยู่ทางทิศตะวันออก ทูลเชิญให้พระนางบรรทมในวิมานทองนั้น พระโพธิสัตว์เป็นพญาช้างตัวประเสริฐสีขาวผ่อง ท่องเที่ยวไปในภูเขาทองลูกหนึ่ง ซึ่งมีอยู่ในที่ไม่ไกลจากที่นั้น ได้ลงจากภูเขาทองนั้นแล้วขึ้นไปยังภูเขาเงิน เดินมาทางทิศเหนือ ใช้งวงจับดอกปทุมสีขาวชูขึ้นแล้วเปล่งโกญจนาท (บันลือเสียงกึกก้อง) เข้าไปยังวิมานทองนั้น พญาช้างได้กระทำประทักษิณรอบพระแท่นสาสน์ของพระนาง 3 รอบ แล้วได้เป็นเสมือนกับผ่าพระปรัศว์เบื้องขา เข้าสู่พระครรภ์ของพระนางมหามายาเทวี พระโพธิสัตว์ทรงถือปฏิสนธิในวันเพ็ญ เดือน 8 ด้วยประการฉะนี้

ในขณะที่พระโพธิสัตว์ทรงถือปฏิสนธิในพระครรภ์ของพระชนนี โลกธาติทั้งสิ้นได้สะเทือนเลื่อนลั่น หวั่นไหวขึ้นพร้อมกันทันที บุพนิมิต 32 ประการได้ปรากฏขึ้นแล้วในจักรวาลทั้งหลาย จำเดิมแต่การถือปฏิสนธิของพระโพธิสัตว์ เทวบุตร 4 องค์ถือพระขรรค์คอยให้การอารักขาแก่พระโพธิสัตว์และพระมารดา เรื่องเกี่ยวกับราคะมิได้มีแก่พระมารดาของพระโพธิสัตว์ พระวรกายของพระชนนีมิลำบาก ทอดพระเนตรเห็นพระโพธิสัตว์ผู้อยู่ภายในพระครรภ์ ประดุจเส้นด้ายสีเหลืองที่ร้อยไว้ในแก้วมณีอันใส ฉะนั้น

เพราะเหตุที่พระครรภ์ที่พระโพธิสัตว์สถิตอยู่ เป็นเสมือนดังห้องประเจดีย์ที่สัตว์อื่นไม่อาจพำนักหรือใช้สอยได้ ฉะนั้น เมื่อพระโพธิสัตว์ประสูติได้ 7 วัน พระมารดาของพระโพธิสัตว์จึงสวรรคต แล้วไปอุบัติในสวรรค์ชั้นดุสิต

ธรรมดาในการคลอดบุตรของหญิงอื่นไม่ถึง 10 เดือนบ้าง เกินไปบ้าง นั่งบ้าง นอนบ้าง แต่พระมารดาของพระโพธิสัตว์หาเหมือนเช่นนั้นไม่ พระมารดาของพระโพธิสัตว์บริบาลพระครรภ์ครบ 10 เดือน แล้วประทับยืนประสูติ ข้อนี้เป็นธรรมดาของมารดาพระโพธิสัตว์

ลายไทยปิดบรรทัด

Go to Top

กลับไปที่ภาพชุด

ภาพชุดที่-1-ภาพที่-2-โชติปาลมานพ

ภาพฆฏิการะ ยอมดึงผมของโชติปาลมานพ ชาติหนึ่งของพระโพธิสัตว์ซึ่งมีชาติตระกูลสูงกว่า เพียงเพื่อชวนไปพบพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า

โชลติปาลมานพจากพุทธประวัติ

ครั้งหนึ่งในภัทรกัปนี้ ชาติหนึ่งของพระโพธิสัตว์ ได้เกิดในตระกูลพราหมณ์ มีชื่อว่าโชติปาลมาณพเป็นผู้จบไตรเพทมีชื่อเสียงในการทำนายลักษณะพื้นดินและลักษณะอากาศ โดยที่โชติปาลได้เกิดในชาติพราหมณ์ดังนั้นจึงไม่เลื่อมใสในพระศาสนา ซึ่งในตอนนั้นโชติปาลมาณพได้มีสหายรักผู้หนึ่งชื่อว่าฆฏิการะซึ่งมีอาชีพเป็นช่างหม้ออยู่ในขณะนั้น ฆฏิการะมาณพได้มีโอกาสไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า อีกทั้งฆฏิการะเป็นอุปัฏฐากอันเลิศของพระผู้มีพระภาคเจ้ามีพระนามว่ากัสสปผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าในสมัยนั้น ด้วยความปรารนาดีกับเพื่อนและมั่นใจว่า มาณพโชติปาลนี้เป็นคนมีปัญญาเมื่อได้เห็นเพียงครั้งเดียว ก็จะเลื่อมใสในการเห็นพระตถาคตด้วย และก็จะเลื่อมใสในธรรมกถาด้วย จึงมีความคิดที่จะชักชวนสหายรักไปพบพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ได้ ดังนั้นฆฏิการะจึงได้ทำการชักชวนโชติปาลมาณพให้ไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากัสสปด้วยกัน จึงกล่าวกับสหายรักว่า

“มาเถิดเพื่อนโชติปาละ เราจักเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่ากัสสปผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะว่าการที่เราได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น สมมติกันว่าเป็นความดี”

เมื่อฆฏิการะช่างหม้อกล่าวอย่างนี้แล้ว แต่โชติปาลมาณพกลับกล่าวปฏิเสธว่า “อย่าเลยเพื่อนฆฏิการะ จะมีประโยชน์อะไรด้วยพระสมณะศีรษะโล้นนั้นที่เราเห็นแล้วเห็นเล่า การตรัสรู้ของสมณะโล้นมีได้อย่างไรเล่า เพราะการตรัสรู้เป็นของที่ได้โดยยากยิ่ง”

ถึงแม้จะได้รับการปฏิเสธ แต่ก็ไม่ได้ทำให้ฆฏิการะเลิกความพยายามที่จะนำโชติปาลมาณพสหายของตนไปเข้าเฝ้าพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้าให้จงได้ จึงได้ชวนเป็นครั้งที่ ๒ ครั้งที่ ๓ แต่ก็ได้รับการปฏิเสธเหมือนเดิม ฆฏิการะจึงเปลี่ยนเรื่องกล่าวชวนโชติปาลไปอาบน้ำที่แม่น้ำกัน เมื่อโชติปาลได้ยินดังนั้นก็รับคำ ทั้งคู่ก็เดินทางไปยังแม่น้ำ ซึ่งในระหว่างทาง ฆฏิการะก็ได้ทำการเชิญชวนอีกครั้งว่า “เพื่อนโชติปาล ที่แห่งนี้ก็ไม่ไกลจากพระอารามของพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่ากัสสปผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า มาเถิดเพื่อน เราจักเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่ากัสสปผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะว่าการที่เราได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นเป็นความดี” ส่วนโชติปาลก็ตอบไปแบบเดิมว่า “อย่าเลยเพื่อนฆฏิการะ จะมีประโยชน์อะไรด้วยพระสมณะศีรษะโล้นนั้นที่เราเห็นแล้วเห็นเล่า การตรัสรู้ของสมณะโล้นมีได้อย่างไรเล่า เพราะการตรัสรู้เป็นของที่ได้โดยยากยิ่ง” ฆฏิการะได้ทำการเชิญชวนอีกเป็นครั้งที่ ๒ ครั้งที่ ๓ ก็ได้รับคำตอบแบบเดิมอีก ต่อมานายฆฏิการะจึงได้จับที่ชายพก (อ้างอิง ๔) ของโชติปาลและกล่าวชวนอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งโชติปาลก็ได้ให้ฆฏิการะปล่อยชายพกแล้วก็ตอบปฏิเสธแบบเดิมอีก ถึงแม้ว่านายฆฏิการะได้รับท่าทีขนาดนั้นของเพื่อนรัก แต่ก็ไม่ได้ทำให้นายฆฏิการะยอมเลิกล้มความพยายามจึงได้รอจังหวะโอกาสถัดไป

หลังจากนั้นทั้งคู่ได้ไปอาบน้ำในแม่น้ำจนเสร็จเรียบร้อยแล้ว สำหรับนายฆฏิการะได้อาบเสร็จก่อนจึงได้ขึ้นจากแม่น้ำและยืนรอเพื่อนอยู่ เมื่อโชติปาลอาบน้ำเสร็จขึ้นมาจากแม่น้ำกำลังทำผมให้แห้ง คราวนี้ฆฏิการะจับที่ผมของโชติปาลแล้วดึงจนทำให้โชติปาลผู้เป็นพระโพธิสัตว์ซึ่งมีกำลังดุจช้างสารเอนเล็กน้อย (ตอนฆฏิการะจับผมของสหายแล้วดึงนั้น นายฆฏิการะได้คิดว่าการที่เราจับผมของโชติปาลสหายผู้มีชาติสูงของเราคราวนี้ หาได้จับด้วยกำลังของตัวเราเองไม่ แต่เป็นการจับด้วยกำลังของพระศาสดา) แล้วชวนแบบเดิมอีก แต่การกระทำครั้งนี้กลับทำให้โชติปาลฉุกใจคิดว่า “ไม่เคยมีมาเลย ที่สหายเราผู้มีชาติต่ำ กลับมาดึงผมของเราแบบนี้ การที่จะไปตามคำชวนของสหายเราคงจะไม่ใช่เป็นเรื่องเล็กน้อยซะแล้ว” จึงได้หันมาถามฆฏิการะว่า ที่เพื่อนทำมาทั้งหมดนี้ ตั้งแต่ได้ชักชวนเราตั้งแต่ต้นหลายครั้ง จนมาดึงชายพก จนกระทั่งถึงขนาดดึงผมของเรานั้น เป็นเพียงแค่ จะชวนเราไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่ากัสสป เท่านั้นเองหรือ ซึ่งฆฏิการะก็กล่าวตอบรับว่า เป็นไปเพียงเพื่อชวนโชติปาลไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า และนายฆฏิการะได้กล่าวย้ำคำเดิมอีกว่า การที่เราได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นเป็นความดี โชติปาลจึงกล่าวให้สหายปล่อยผมของตนก่อนและกล่าวว่าตนจะไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้ากับสหายฆฏิการะ ในที่สุดความพยายามของฆฏิการะทำให้โชติปาลมาณพได้มีโอกาสเข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อโชติปาลได้เฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสธรรมกถาเพื่อให้โชติปาละนั้นกลับมาได้สติว่า “ดูก่อนโชติปาละ ตัวท่านมิใช่สัตว์ผู้หยั่งลงสู่ฐานะอันต่ำทราม แต่ท่านปรารถนาสัพพัญญุตญาณ ธรรมดาคนเช่นท่านไม่ควรอยู่ด้วยความประมาท” อีกทั้งพระองค์ทรงสั่งสอนถึงโทษในกามทั้งหลาย และอานิสงส์ในการออกบวชด้วยประการทั้งปวง

จนในที่สุดทำให้โชติปาลมาณพได้มีความศรัทธาออกบวชในศาสนาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากัสสปในสมัยนั้น และได้ประพฤติธรรมอันสมควรแก่ธรรมทำให้เกิดประโยชน์กับตนเองสูงสุด เนื่องด้วยเพราะความมีกัลยาณมิตรดั่งเช่นฆฏิการะนั่นเอง

(เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเล่าเรื่องราวจบ ก็ตรัสบอกพระอานนท์ว่า ดูก่อนอานนท์ เธอมีความคิดว่าโชติปาละในตอนนั้นต้องเป็นคนอื่นแน่นอน เธอไม่ควรเห็นอย่างนั้น สมัยนั้นเราได้เป็นโชติปาลมาณพ)

เรื่องที่กล่าวมานั้นแสดงให้เห็นว่าแม้แต่พระองค์ ครั้งในสมัยที่ยังเป็นพระโพธิสัตว์อยู่ ก็ยังอาศัยกัลยาณมิตรเป็นผู้ชักนำพระองค์ในชาตินั้นสู่เส้นทางอันประเสริฐ

หลังจากเล่าเรื่องโชติปาลมานพ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสว่า “อานนท์! เธออย่าได้กล่าวอย่างนี้เลย อานนท์ พรหมจรรย์ทั้งสิ้นนี้คือ ความเป็นผู้มีมิตรงาม ๑ ความเป็นผู้มีสหายงาม ๑ ความเป็นผู้โน้มไปในมิตรงาม ๑ ” เมื่อดูจากข้อความที่พระองค์ตรัสกับพระอานนท์แล้ว ก็พอจะเห็นว่า “กัลยาณมิตรเป็นทั้งหมดของพรหมจรรย์” ดังนั้นการที่คนๆหนึ่งจะได้เจอกับกัลยาณมิตรนั้นจึงนับว่าเป็นเรื่องที่ประเสริฐอย่างที่สุด

ลายไทยปิดบรรทัด

กลับไปที่ภาพชุด

ประสูติพระโพธิสัตว์

032-ประสูติพระโพธิสัตว์

 ภาพพระโพธิสัตว์ขณะทรงประสูติเสด็จย่างพระบาทไปบนดอกบัวใหญ่ 7 ก้าว ณ ก้าวที่ 7 ทรงบันลือสีหนาทเปล่งวาจาอันองอาจ ว่าเราเป็นผู้เลิศในโลก เราเป็นผู้ใหญ่ในโลก เราเป็นผู้ประเสริฐสุดในโลก ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย การเกิดอีกมิได้มี

 

พระนางมหามายาเทวีทรงบริบาลพระครรภ์ครบ 10 เดือน เมื่อพระครรภ์แก่เต็มที่แล้ว มีพระราชประสงค์จะเสด็จไปยังเรือนแห่งพระญาติที่เทวทหนคร พระนางได้กราบทูลพระเจ้าสุทโธทนะ พระราชาทรงอนุญาตแล้ว มีรับสั่งให้ทำหนทางจากกรุงกบิลพัสดุ์จนถึงกรุเทวทหะให้ราบเรียบ ตกแต่งประดับประดาด้วยธงชายธงผ้าเป็นต้น ให้พระนางประทับนั่งในสีวิกาทอง มีเหล่าอำมาตย์เป็นผู้หาม ทรงส่งพระนางไปพร้อมด้วยราชบริพารกลุ่มใหญ่

ระหว่างทาง ผ่านอุทยานชื่อ ลุมพินี สมัยนั้นต้นสาละออกดอกบานสะพรั่ง ตั้งแต่โคนต้นจนถึงปลายกิ่ง หมู่ภมร และหมู่มวลวิหคนานัปการ ร่ำร้องอยู่ด้วยเสียงอันไพเราะ ระหว่างกิ่งระหว่างดอกทั้งหลายเป็นที่น่ารื่นรมย์ พระนางทอดพระเนตรเห็นดังนั้น มีพระประสงค์จะแวะชม จึงเสด็จเข้าไปยังโคนต้นสาละอันเป็นมงคล เมื่อพระนางมีพระประสงค์จะจับกิ่งใด กิ่งนั้นก็น้อมลงมาเองจนถึงพระหัตถ์

ขณะที่พระนางประทับยืนจับกิ่งสาละนั้น ลมกัมมัชวาตก็เกิดปั่นป่วน ลำดับนั้นเหล่าราชบริพารจึงกั้นพระวิสูตรแก่พระนางแล้วหลีกไป พระนางเมื่อประทับยืนจับกิ่งสาละอยู่นั้น พระโพธิสัตว์ก็ประสูติจากพระครรภ์ของพระนาง

ขณะนั้นเอง ท้าวมหาพรหมจากชั้นสุทธาวาส 4 พระองค์ ก็ถือข่ายทองมารองรับพระโพธิสัตว์และทูลว่า ข้าแต่พระเทวี ขอพระองค์ทรงดีพระทัยเถิด พระราชบุตรผู้มีศักดาใหญ่ทรงอุบัติขึ้นแล้ว ก็สัตว์อื่นๆเมื่อออกจากครรภ์มารดา ย่อมแปดเปื้อนด้วยสิ่งปฏิกูลต่างๆ แต่พระโพธิสัตว์นั้นเหยียดพระหัตถ์ทั้งสองและพระบาททั้งสอง ยืนออกจากพระครรภ์ของพระชนนีประดุจพระธรรมกถึกลงจากธรรมาสน์ ไม่เปรอะเปื้อนด้วยสิ่งปฏิกูลใดๆที่มีอยู่ในพระครรภ์ของพระชนนี บริสุทธิ์รุ่งโรจน์ประดุจแก้วมณีที่วางไว้บนผ้ากาสิกพัสตร์ ขณะนั้นสายธารสองสายพลุ่งลงมาจากอากาศ โสรจสรงพระสรีระของพระโพธิสัตว์และพระชนนี เพื่อสักการะแต่ทั้งสองพระองค์

ลำดับนั้น ท้าวมหาราชทั้งสี่ รับพระโพธิสัตว์จากหัตถ์ของท้าวมหาพรหม ด้วยเครื่องลาดอันทำด้วยหนังเสือดาวที่มีสัมผัสอ่อนนุ่ม ซึ่งสมมติกันว่าเป็นมงคล ต่อมาพวกข้าราชบริพารก็นำพระยี่ภู่ที่ทำด้วยผ้าทุกูลพัสตร์ (เบาะผ้าเนื้อดี) เข้ามารับจากหัตถ์ของท้าวมหาราชทั้งสี่นั้น พอพ้นจากหัตถ์ของทวยเทพ พระโพธิสัตว์ประทับยืนบนแผ่นดิน ทอดพระเนตรดูทางทิศตะวันออก จักรวาลทั้งหลายได้เป็นดุจลานอันเดียวกัน พวกเทวดาและมนุษย์ในที่นั้น ต่างพากันบูชาด้วยของหอมและดอกไม้ กราบทูลว่า ข้าแต่มหาบุรุษ ผู้ที่เสมือนกับพระองค์ในที่นี้ไม่มี

พระโพธิสัตว์ทรงมองตรวจดูทิศใหญ่ทิศน้อยตลอดทั้ง 10 ทิศ ก็มิได้ทรงเห็นผู้ใดที่เสมือนกับพระองค์ จึงบ่ายพระพักตร์มุ่งสู่ทิศเหนือ เสด็จย่างพระบาทไป 7 ก้าว มีท้าวมหาพรหมกั้นเศวตฉัตร ท้าวสุยามะเทวบุตรถือพัดวาลวีชนี เทวดาเหล่าอื่นถือเครื่องราชกกุธภัณฑ์เดินตามเสด็จ พระโพธิสัตว์เสด็จดำเนินไปบนพื้นดินโดยไม่มีอาภรณ์ปกปิด แต่ปรากฏแก่สายตาของมหาชน เหมือนทรงดำเนินไปในอากาศ เหมือนประดับตกแต่งพระองค์ และเหมือนมีพระชนมายุ 16 พรรษา จากนั้นประทับยืน ณ ก้าวที่ 7 ทรงบันลือสีหนาทเปล่งอาสภิวาจา (วาจาอันองอาจ) ว่า

            อคฺโคหมสฺมิ โลกสฺส, เชฏฺโฐหมสฺมิ โลกสฺส, เสฏฺโฐหมสฺมิ โลกสฺส, อยมนฺติมา ชาติ นตฺถิทานิ ปุนพฺภโว.

 เราเป็นผู้เลิศในโลก เราเป็นผู้ใหญ่ในโลก เราเป็นผู้ประเสริฐสุดในโลก ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย การเกิดอีกมิได้มี

Go to Top

ลายไทยปิดบรรทัด

กลับไปที่ภาพชุด

ภาพชุดที่-1-ภาพที่-1-สุเมธดาบส

 ภาพสุเมธดาบสนอนคว่ำหน้าทอดตนเป็นสะพานเพื่อให้พระทีปังกรสัมมาสัมพุทธเจ้าเดินผ่านโคลนตม

คลิกเพื่อฟัง

สุเมธดาบสจากพุทธประวัติ

ในมธุรัตถวิลาสินี อรรถกถา ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ กล่าวว่า ในครั้งอดีต พระโพธิสัตว์บังเกิดในตระกูลพราหมณ์ มีนามว่า สุเมธ อยู่ในพระนคร อมรวดี เรียนจบไตรเพท เมื่อบิดามารดาหาชีวิตไม่แล้ว สิริวัฑฒกะ ผู้ดูแลทรัพย์สินได้นำบัญชีทรัพย์สินมาแสดง แล้วเปิดคลังที่เต็มด้วยทอง เงิน แก้วมณี และมุกดา แจ้งทรัพย์สินตั้งแต่ 3 ชั่วตระกูลว่า ทรัพย์ประมาณเท่านี้เป็นของบิดามารดา ประมาณเท่านี้เป็นของปู่ ย่า ตา ยาย และทวดของท่าน แล้วกล่าวว่าขอท่านจงปกครองทรัพย์สินนี้เถิด

สุเมธบัณฑิต คิดว่าญาติทั้งหลายมีบิดามารดาของเรา เป็นต้น อุตส่าห์รวบรวมทรัพย์สินเหล่านี้ไว้เป็นอันมาก ถึงอย่างนั้นเมื่อจะไปสูปรโลก ก็ถือเอาไปมิได้แม้แต่กหาปณะเดียว ควรที่เราจักทำเหตุแห่งการถือเอาไปได้ จึงกราบทูลแก่พระราชา ให้ตีกลองป่าวประกาศในพระนคร บริจาคทานแก่มหาชน แล้วออกบวชเป็นดาบสบำเพ็ญพรตอยู่ ณ บรรณศาลาที่ภูเขาชื่อว่า ธรรมิก ไม่ไกลจากป่าหิมพานต์ เมื่อครบ 7 วัน ก็ได้บรรลุกำลังแห่งอภิญญา 5 สมาบัติ 8

ในกาลนั้น พระบรมศาสดาพระนามว่า ทีปังกร เสด็จอุบัติขึ้นในโลก ตรัสรู้แล้วทรงแสดงพระธรรมจักรให้เป็นไป พระองค์พร้อมด้วยพระขีณาสพแวดล้อม เสด็จจาริกไปยังคามนิคมและราชธานี เพื่ออนุเคราะห์บรรดาสัตว์โลกให้ล่วงพ้นสังสารวัฏ ได้เสด็จมายัง รัมมนคร อันเป็นสถานที่ประสูติ

บรรดาอุบาสกอุบาสิกาชาวรัมมนครสดับข่าวว่า พระทีปังกรสัมมาสัมพุทธเจ้า กำลังเสด็จมาสู่เมืองของพวกตน ต่างพากันแผ้วถางตกแต่งมรรคา เพื่อต้อนรับเสด็จอย่างสมพระเกียรติ

เหล่ามหาชนเตรียมจัดสร้างมณฑป ประดับประดาด้วยพวงดอกไม้ของหอม ปูลาดพระพุทธอาสน์อันอบร่ำด้วยของหอม ยกธงปฏาก ยกธงชัยและธงแผ่นผ้าหลากสี แล้วแผ้วถางทางที่พระทีปังกรพุทธเจ้าจะเสด็จดำเนินผ่านให้เรียบร้อย ที่ใดเป็นที่ลุ่มก็นำดินมาถมให้ได้ระดับเสมอกัน เพื่อความสะดวกของพระพุทธองค์และสงฆ์สาวก

ครั้งนั้น สุเมธดาบสประสงค์จะไปยังป่าหิมพานต์ด้านทิศเหนือ จึงเข้าจตุตถฌาน มีอภิญญาเป็นบาท ออกจากฌานแล้วเหาะไป เมื่อมองลงมา เห็นคนทั้งทั้งหลายกำลังร่าเริงยินดี พากันแผ้วถางและตกแต่งหนทางอยู่ จึงลงมาถามว่า ท่านผู้เจริญ พวกท่านแผ้วถางทางนี้เพื่อผู้ใด ชนเหล่านั้นกล่าวว่าเพื่อประโยชน์แก่ พระทีปังกรพุทธเจ้า

สุเมธดาบสได้สดับดังนั้น บังเกิดปีติโสมนัส คิดว่าอย่าให้กาลเช่นนี้ล่วงไปเลย กล่าวกับมหาชนว่า หากท่านแผ้วถางทางเพื่อพระพุทธเจ้า ก็ขอจงให้โอกาสแก่เราบ้างเถิด แม้เราก็จักแผ้วถางทางอันเป็นที่เสด็จดำเนินของพระพุทธเจ้าร่วมกับพวกท่านด้วย

ขณะที่สุเมธดาบสตกแต่งทางนั้นยังไม่สำเร็จเรียบร้อย พระทีปังกรพุทธเจ้าแวดล้อม ด้วยพระขีณาสพทั้งหลายก็เสด็จมาถึงตรงทางนั้น เทวดาและมนุษย์ต่างปรีดาปราโมทย์ แซ่ซ้องสาธุการ ประคองอัญชลีตามเสด็จพระตถาคต สุเมธดาบสเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้ากำลังเสด็จใกล้เข้ามา คิดว่า วันนี้เราควรสละชีวิตเพื่อพระทศพล จึงสยายผม ปูลาดแผ่นหนังลงบนเปือกตม นอนคว่ำหน้าทอดตนเป็นสะพานเพื่อพระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยคิดว่าขอพระพุทธเจ้าจงทรงเหยียบหลังเรา เสด็จข้ามไปพร้อมกับพระขีณาสพทั้งหลาย เสมือนทรงเหยียบสะพานเถิด

เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จใกล้เข้ามาโดยลำดับ สุเมธดาบสได้เห็นพระรูปโฉมของพระทีปังกรพุทธเจ้า อันประกอบด้วยมหาปุริสลักษณะ 32 ประการ พร้อมอนุพยัญชนะ 80 เปล่งพระพุทธรัศมีงดงาม สุเมธดาบสก็ยิ่งเกิดปีติเลื่อมใส ตั้งความปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าอธิษฐานว่า เราจักบรรลุพระสัพพัญญุตญาณเป็นพระพุทธเจ้าในโลก จักยังมนุษยโลก พร้อมทั้งเทวโลกให้ข้ามพ้นโอฆะ (ห้วงน้ำคือกิเลสของหมู่สัตว์) ด้วยกุศลอันยิ่งใหญ่ในครั้งนี้

 ลายไทยปิดบรรทัด

กลับไปที่ภาพชุด