ภาพพุทธประวัติ : โชติปาลมานพ


ภาพชุดที่-1-ภาพที่-2-โชติปาลมานพ

ภาพฆฏิการะ ยอมดึงผมของโชติปาลมานพ ชาติหนึ่งของพระโพธิสัตว์ซึ่งมีชาติตระกูลสูงกว่า เพียงเพื่อชวนไปพบพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า

โชลติปาลมานพจากพุทธประวัติ

ครั้งหนึ่งในภัทรกัปนี้ ชาติหนึ่งของพระโพธิสัตว์ ได้เกิดในตระกูลพราหมณ์ มีชื่อว่าโชติปาลมาณพเป็นผู้จบไตรเพทมีชื่อเสียงในการทำนายลักษณะพื้นดินและลักษณะอากาศ โดยที่โชติปาลได้เกิดในชาติพราหมณ์ดังนั้นจึงไม่เลื่อมใสในพระศาสนา ซึ่งในตอนนั้นโชติปาลมาณพได้มีสหายรักผู้หนึ่งชื่อว่าฆฏิการะซึ่งมีอาชีพเป็นช่างหม้ออยู่ในขณะนั้น ฆฏิการะมาณพได้มีโอกาสไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า อีกทั้งฆฏิการะเป็นอุปัฏฐากอันเลิศของพระผู้มีพระภาคเจ้ามีพระนามว่ากัสสปผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าในสมัยนั้น ด้วยความปรารนาดีกับเพื่อนและมั่นใจว่า มาณพโชติปาลนี้เป็นคนมีปัญญาเมื่อได้เห็นเพียงครั้งเดียว ก็จะเลื่อมใสในการเห็นพระตถาคตด้วย และก็จะเลื่อมใสในธรรมกถาด้วย จึงมีความคิดที่จะชักชวนสหายรักไปพบพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ได้ ดังนั้นฆฏิการะจึงได้ทำการชักชวนโชติปาลมาณพให้ไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากัสสปด้วยกัน จึงกล่าวกับสหายรักว่า

“มาเถิดเพื่อนโชติปาละ เราจักเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่ากัสสปผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะว่าการที่เราได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น สมมติกันว่าเป็นความดี”

เมื่อฆฏิการะช่างหม้อกล่าวอย่างนี้แล้ว แต่โชติปาลมาณพกลับกล่าวปฏิเสธว่า “อย่าเลยเพื่อนฆฏิการะ จะมีประโยชน์อะไรด้วยพระสมณะศีรษะโล้นนั้นที่เราเห็นแล้วเห็นเล่า การตรัสรู้ของสมณะโล้นมีได้อย่างไรเล่า เพราะการตรัสรู้เป็นของที่ได้โดยยากยิ่ง”

ถึงแม้จะได้รับการปฏิเสธ แต่ก็ไม่ได้ทำให้ฆฏิการะเลิกความพยายามที่จะนำโชติปาลมาณพสหายของตนไปเข้าเฝ้าพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้าให้จงได้ จึงได้ชวนเป็นครั้งที่ ๒ ครั้งที่ ๓ แต่ก็ได้รับการปฏิเสธเหมือนเดิม ฆฏิการะจึงเปลี่ยนเรื่องกล่าวชวนโชติปาลไปอาบน้ำที่แม่น้ำกัน เมื่อโชติปาลได้ยินดังนั้นก็รับคำ ทั้งคู่ก็เดินทางไปยังแม่น้ำ ซึ่งในระหว่างทาง ฆฏิการะก็ได้ทำการเชิญชวนอีกครั้งว่า “เพื่อนโชติปาล ที่แห่งนี้ก็ไม่ไกลจากพระอารามของพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่ากัสสปผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า มาเถิดเพื่อน เราจักเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่ากัสสปผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะว่าการที่เราได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นเป็นความดี” ส่วนโชติปาลก็ตอบไปแบบเดิมว่า “อย่าเลยเพื่อนฆฏิการะ จะมีประโยชน์อะไรด้วยพระสมณะศีรษะโล้นนั้นที่เราเห็นแล้วเห็นเล่า การตรัสรู้ของสมณะโล้นมีได้อย่างไรเล่า เพราะการตรัสรู้เป็นของที่ได้โดยยากยิ่ง” ฆฏิการะได้ทำการเชิญชวนอีกเป็นครั้งที่ ๒ ครั้งที่ ๓ ก็ได้รับคำตอบแบบเดิมอีก ต่อมานายฆฏิการะจึงได้จับที่ชายพก (อ้างอิง ๔) ของโชติปาลและกล่าวชวนอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งโชติปาลก็ได้ให้ฆฏิการะปล่อยชายพกแล้วก็ตอบปฏิเสธแบบเดิมอีก ถึงแม้ว่านายฆฏิการะได้รับท่าทีขนาดนั้นของเพื่อนรัก แต่ก็ไม่ได้ทำให้นายฆฏิการะยอมเลิกล้มความพยายามจึงได้รอจังหวะโอกาสถัดไป

หลังจากนั้นทั้งคู่ได้ไปอาบน้ำในแม่น้ำจนเสร็จเรียบร้อยแล้ว สำหรับนายฆฏิการะได้อาบเสร็จก่อนจึงได้ขึ้นจากแม่น้ำและยืนรอเพื่อนอยู่ เมื่อโชติปาลอาบน้ำเสร็จขึ้นมาจากแม่น้ำกำลังทำผมให้แห้ง คราวนี้ฆฏิการะจับที่ผมของโชติปาลแล้วดึงจนทำให้โชติปาลผู้เป็นพระโพธิสัตว์ซึ่งมีกำลังดุจช้างสารเอนเล็กน้อย (ตอนฆฏิการะจับผมของสหายแล้วดึงนั้น นายฆฏิการะได้คิดว่าการที่เราจับผมของโชติปาลสหายผู้มีชาติสูงของเราคราวนี้ หาได้จับด้วยกำลังของตัวเราเองไม่ แต่เป็นการจับด้วยกำลังของพระศาสดา) แล้วชวนแบบเดิมอีก แต่การกระทำครั้งนี้กลับทำให้โชติปาลฉุกใจคิดว่า “ไม่เคยมีมาเลย ที่สหายเราผู้มีชาติต่ำ กลับมาดึงผมของเราแบบนี้ การที่จะไปตามคำชวนของสหายเราคงจะไม่ใช่เป็นเรื่องเล็กน้อยซะแล้ว” จึงได้หันมาถามฆฏิการะว่า ที่เพื่อนทำมาทั้งหมดนี้ ตั้งแต่ได้ชักชวนเราตั้งแต่ต้นหลายครั้ง จนมาดึงชายพก จนกระทั่งถึงขนาดดึงผมของเรานั้น เป็นเพียงแค่ จะชวนเราไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่ากัสสป เท่านั้นเองหรือ ซึ่งฆฏิการะก็กล่าวตอบรับว่า เป็นไปเพียงเพื่อชวนโชติปาลไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า และนายฆฏิการะได้กล่าวย้ำคำเดิมอีกว่า การที่เราได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นเป็นความดี โชติปาลจึงกล่าวให้สหายปล่อยผมของตนก่อนและกล่าวว่าตนจะไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้ากับสหายฆฏิการะ ในที่สุดความพยายามของฆฏิการะทำให้โชติปาลมาณพได้มีโอกาสเข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อโชติปาลได้เฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสธรรมกถาเพื่อให้โชติปาละนั้นกลับมาได้สติว่า “ดูก่อนโชติปาละ ตัวท่านมิใช่สัตว์ผู้หยั่งลงสู่ฐานะอันต่ำทราม แต่ท่านปรารถนาสัพพัญญุตญาณ ธรรมดาคนเช่นท่านไม่ควรอยู่ด้วยความประมาท” อีกทั้งพระองค์ทรงสั่งสอนถึงโทษในกามทั้งหลาย และอานิสงส์ในการออกบวชด้วยประการทั้งปวง

จนในที่สุดทำให้โชติปาลมาณพได้มีความศรัทธาออกบวชในศาสนาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากัสสปในสมัยนั้น และได้ประพฤติธรรมอันสมควรแก่ธรรมทำให้เกิดประโยชน์กับตนเองสูงสุด เนื่องด้วยเพราะความมีกัลยาณมิตรดั่งเช่นฆฏิการะนั่นเอง

(เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเล่าเรื่องราวจบ ก็ตรัสบอกพระอานนท์ว่า ดูก่อนอานนท์ เธอมีความคิดว่าโชติปาละในตอนนั้นต้องเป็นคนอื่นแน่นอน เธอไม่ควรเห็นอย่างนั้น สมัยนั้นเราได้เป็นโชติปาลมาณพ)

เรื่องที่กล่าวมานั้นแสดงให้เห็นว่าแม้แต่พระองค์ ครั้งในสมัยที่ยังเป็นพระโพธิสัตว์อยู่ ก็ยังอาศัยกัลยาณมิตรเป็นผู้ชักนำพระองค์ในชาตินั้นสู่เส้นทางอันประเสริฐ

หลังจากเล่าเรื่องโชติปาลมานพ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสว่า “อานนท์! เธออย่าได้กล่าวอย่างนี้เลย อานนท์ พรหมจรรย์ทั้งสิ้นนี้คือ ความเป็นผู้มีมิตรงาม ๑ ความเป็นผู้มีสหายงาม ๑ ความเป็นผู้โน้มไปในมิตรงาม ๑ ” เมื่อดูจากข้อความที่พระองค์ตรัสกับพระอานนท์แล้ว ก็พอจะเห็นว่า “กัลยาณมิตรเป็นทั้งหมดของพรหมจรรย์” ดังนั้นการที่คนๆหนึ่งจะได้เจอกับกัลยาณมิตรนั้นจึงนับว่าเป็นเรื่องที่ประเสริฐอย่างที่สุด

ลายไทยปิดบรรทัด

กลับไปที่ภาพชุด