Blog Archives


ประสูติพระโพธิสัตว์

032-ประสูติพระโพธิสัตว์

 ภาพพระโพธิสัตว์ขณะทรงประสูติเสด็จย่างพระบาทไปบนดอกบัวใหญ่ 7 ก้าว ณ ก้าวที่ 7 ทรงบันลือสีหนาทเปล่งวาจาอันองอาจ ว่าเราเป็นผู้เลิศในโลก เราเป็นผู้ใหญ่ในโลก เราเป็นผู้ประเสริฐสุดในโลก ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย การเกิดอีกมิได้มี

 

พระนางมหามายาเทวีทรงบริบาลพระครรภ์ครบ 10 เดือน เมื่อพระครรภ์แก่เต็มที่แล้ว มีพระราชประสงค์จะเสด็จไปยังเรือนแห่งพระญาติที่เทวทหนคร พระนางได้กราบทูลพระเจ้าสุทโธทนะ พระราชาทรงอนุญาตแล้ว มีรับสั่งให้ทำหนทางจากกรุงกบิลพัสดุ์จนถึงกรุเทวทหะให้ราบเรียบ ตกแต่งประดับประดาด้วยธงชายธงผ้าเป็นต้น ให้พระนางประทับนั่งในสีวิกาทอง มีเหล่าอำมาตย์เป็นผู้หาม ทรงส่งพระนางไปพร้อมด้วยราชบริพารกลุ่มใหญ่

ระหว่างทาง ผ่านอุทยานชื่อ ลุมพินี สมัยนั้นต้นสาละออกดอกบานสะพรั่ง ตั้งแต่โคนต้นจนถึงปลายกิ่ง หมู่ภมร และหมู่มวลวิหคนานัปการ ร่ำร้องอยู่ด้วยเสียงอันไพเราะ ระหว่างกิ่งระหว่างดอกทั้งหลายเป็นที่น่ารื่นรมย์ พระนางทอดพระเนตรเห็นดังนั้น มีพระประสงค์จะแวะชม จึงเสด็จเข้าไปยังโคนต้นสาละอันเป็นมงคล เมื่อพระนางมีพระประสงค์จะจับกิ่งใด กิ่งนั้นก็น้อมลงมาเองจนถึงพระหัตถ์

ขณะที่พระนางประทับยืนจับกิ่งสาละนั้น ลมกัมมัชวาตก็เกิดปั่นป่วน ลำดับนั้นเหล่าราชบริพารจึงกั้นพระวิสูตรแก่พระนางแล้วหลีกไป พระนางเมื่อประทับยืนจับกิ่งสาละอยู่นั้น พระโพธิสัตว์ก็ประสูติจากพระครรภ์ของพระนาง

ขณะนั้นเอง ท้าวมหาพรหมจากชั้นสุทธาวาส 4 พระองค์ ก็ถือข่ายทองมารองรับพระโพธิสัตว์และทูลว่า ข้าแต่พระเทวี ขอพระองค์ทรงดีพระทัยเถิด พระราชบุตรผู้มีศักดาใหญ่ทรงอุบัติขึ้นแล้ว ก็สัตว์อื่นๆเมื่อออกจากครรภ์มารดา ย่อมแปดเปื้อนด้วยสิ่งปฏิกูลต่างๆ แต่พระโพธิสัตว์นั้นเหยียดพระหัตถ์ทั้งสองและพระบาททั้งสอง ยืนออกจากพระครรภ์ของพระชนนีประดุจพระธรรมกถึกลงจากธรรมาสน์ ไม่เปรอะเปื้อนด้วยสิ่งปฏิกูลใดๆที่มีอยู่ในพระครรภ์ของพระชนนี บริสุทธิ์รุ่งโรจน์ประดุจแก้วมณีที่วางไว้บนผ้ากาสิกพัสตร์ ขณะนั้นสายธารสองสายพลุ่งลงมาจากอากาศ โสรจสรงพระสรีระของพระโพธิสัตว์และพระชนนี เพื่อสักการะแต่ทั้งสองพระองค์

ลำดับนั้น ท้าวมหาราชทั้งสี่ รับพระโพธิสัตว์จากหัตถ์ของท้าวมหาพรหม ด้วยเครื่องลาดอันทำด้วยหนังเสือดาวที่มีสัมผัสอ่อนนุ่ม ซึ่งสมมติกันว่าเป็นมงคล ต่อมาพวกข้าราชบริพารก็นำพระยี่ภู่ที่ทำด้วยผ้าทุกูลพัสตร์ (เบาะผ้าเนื้อดี) เข้ามารับจากหัตถ์ของท้าวมหาราชทั้งสี่นั้น พอพ้นจากหัตถ์ของทวยเทพ พระโพธิสัตว์ประทับยืนบนแผ่นดิน ทอดพระเนตรดูทางทิศตะวันออก จักรวาลทั้งหลายได้เป็นดุจลานอันเดียวกัน พวกเทวดาและมนุษย์ในที่นั้น ต่างพากันบูชาด้วยของหอมและดอกไม้ กราบทูลว่า ข้าแต่มหาบุรุษ ผู้ที่เสมือนกับพระองค์ในที่นี้ไม่มี

พระโพธิสัตว์ทรงมองตรวจดูทิศใหญ่ทิศน้อยตลอดทั้ง 10 ทิศ ก็มิได้ทรงเห็นผู้ใดที่เสมือนกับพระองค์ จึงบ่ายพระพักตร์มุ่งสู่ทิศเหนือ เสด็จย่างพระบาทไป 7 ก้าว มีท้าวมหาพรหมกั้นเศวตฉัตร ท้าวสุยามะเทวบุตรถือพัดวาลวีชนี เทวดาเหล่าอื่นถือเครื่องราชกกุธภัณฑ์เดินตามเสด็จ พระโพธิสัตว์เสด็จดำเนินไปบนพื้นดินโดยไม่มีอาภรณ์ปกปิด แต่ปรากฏแก่สายตาของมหาชน เหมือนทรงดำเนินไปในอากาศ เหมือนประดับตกแต่งพระองค์ และเหมือนมีพระชนมายุ 16 พรรษา จากนั้นประทับยืน ณ ก้าวที่ 7 ทรงบันลือสีหนาทเปล่งอาสภิวาจา (วาจาอันองอาจ) ว่า

            อคฺโคหมสฺมิ โลกสฺส, เชฏฺโฐหมสฺมิ โลกสฺส, เสฏฺโฐหมสฺมิ โลกสฺส, อยมนฺติมา ชาติ นตฺถิทานิ ปุนพฺภโว.

 เราเป็นผู้เลิศในโลก เราเป็นผู้ใหญ่ในโลก เราเป็นผู้ประเสริฐสุดในโลก ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย การเกิดอีกมิได้มี

Go to Top

ลายไทยปิดบรรทัด

กลับไปที่ภาพชุด

ภาพชุดที่-1-ภาพที่-1-สุเมธดาบส

 ภาพสุเมธดาบสนอนคว่ำหน้าทอดตนเป็นสะพานเพื่อให้พระทีปังกรสัมมาสัมพุทธเจ้าเดินผ่านโคลนตม

คลิกเพื่อฟัง

สุเมธดาบสจากพุทธประวัติ

ในมธุรัตถวิลาสินี อรรถกถา ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ กล่าวว่า ในครั้งอดีต พระโพธิสัตว์บังเกิดในตระกูลพราหมณ์ มีนามว่า สุเมธ อยู่ในพระนคร อมรวดี เรียนจบไตรเพท เมื่อบิดามารดาหาชีวิตไม่แล้ว สิริวัฑฒกะ ผู้ดูแลทรัพย์สินได้นำบัญชีทรัพย์สินมาแสดง แล้วเปิดคลังที่เต็มด้วยทอง เงิน แก้วมณี และมุกดา แจ้งทรัพย์สินตั้งแต่ 3 ชั่วตระกูลว่า ทรัพย์ประมาณเท่านี้เป็นของบิดามารดา ประมาณเท่านี้เป็นของปู่ ย่า ตา ยาย และทวดของท่าน แล้วกล่าวว่าขอท่านจงปกครองทรัพย์สินนี้เถิด

สุเมธบัณฑิต คิดว่าญาติทั้งหลายมีบิดามารดาของเรา เป็นต้น อุตส่าห์รวบรวมทรัพย์สินเหล่านี้ไว้เป็นอันมาก ถึงอย่างนั้นเมื่อจะไปสูปรโลก ก็ถือเอาไปมิได้แม้แต่กหาปณะเดียว ควรที่เราจักทำเหตุแห่งการถือเอาไปได้ จึงกราบทูลแก่พระราชา ให้ตีกลองป่าวประกาศในพระนคร บริจาคทานแก่มหาชน แล้วออกบวชเป็นดาบสบำเพ็ญพรตอยู่ ณ บรรณศาลาที่ภูเขาชื่อว่า ธรรมิก ไม่ไกลจากป่าหิมพานต์ เมื่อครบ 7 วัน ก็ได้บรรลุกำลังแห่งอภิญญา 5 สมาบัติ 8

ในกาลนั้น พระบรมศาสดาพระนามว่า ทีปังกร เสด็จอุบัติขึ้นในโลก ตรัสรู้แล้วทรงแสดงพระธรรมจักรให้เป็นไป พระองค์พร้อมด้วยพระขีณาสพแวดล้อม เสด็จจาริกไปยังคามนิคมและราชธานี เพื่ออนุเคราะห์บรรดาสัตว์โลกให้ล่วงพ้นสังสารวัฏ ได้เสด็จมายัง รัมมนคร อันเป็นสถานที่ประสูติ

บรรดาอุบาสกอุบาสิกาชาวรัมมนครสดับข่าวว่า พระทีปังกรสัมมาสัมพุทธเจ้า กำลังเสด็จมาสู่เมืองของพวกตน ต่างพากันแผ้วถางตกแต่งมรรคา เพื่อต้อนรับเสด็จอย่างสมพระเกียรติ

เหล่ามหาชนเตรียมจัดสร้างมณฑป ประดับประดาด้วยพวงดอกไม้ของหอม ปูลาดพระพุทธอาสน์อันอบร่ำด้วยของหอม ยกธงปฏาก ยกธงชัยและธงแผ่นผ้าหลากสี แล้วแผ้วถางทางที่พระทีปังกรพุทธเจ้าจะเสด็จดำเนินผ่านให้เรียบร้อย ที่ใดเป็นที่ลุ่มก็นำดินมาถมให้ได้ระดับเสมอกัน เพื่อความสะดวกของพระพุทธองค์และสงฆ์สาวก

ครั้งนั้น สุเมธดาบสประสงค์จะไปยังป่าหิมพานต์ด้านทิศเหนือ จึงเข้าจตุตถฌาน มีอภิญญาเป็นบาท ออกจากฌานแล้วเหาะไป เมื่อมองลงมา เห็นคนทั้งทั้งหลายกำลังร่าเริงยินดี พากันแผ้วถางและตกแต่งหนทางอยู่ จึงลงมาถามว่า ท่านผู้เจริญ พวกท่านแผ้วถางทางนี้เพื่อผู้ใด ชนเหล่านั้นกล่าวว่าเพื่อประโยชน์แก่ พระทีปังกรพุทธเจ้า

สุเมธดาบสได้สดับดังนั้น บังเกิดปีติโสมนัส คิดว่าอย่าให้กาลเช่นนี้ล่วงไปเลย กล่าวกับมหาชนว่า หากท่านแผ้วถางทางเพื่อพระพุทธเจ้า ก็ขอจงให้โอกาสแก่เราบ้างเถิด แม้เราก็จักแผ้วถางทางอันเป็นที่เสด็จดำเนินของพระพุทธเจ้าร่วมกับพวกท่านด้วย

ขณะที่สุเมธดาบสตกแต่งทางนั้นยังไม่สำเร็จเรียบร้อย พระทีปังกรพุทธเจ้าแวดล้อม ด้วยพระขีณาสพทั้งหลายก็เสด็จมาถึงตรงทางนั้น เทวดาและมนุษย์ต่างปรีดาปราโมทย์ แซ่ซ้องสาธุการ ประคองอัญชลีตามเสด็จพระตถาคต สุเมธดาบสเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้ากำลังเสด็จใกล้เข้ามา คิดว่า วันนี้เราควรสละชีวิตเพื่อพระทศพล จึงสยายผม ปูลาดแผ่นหนังลงบนเปือกตม นอนคว่ำหน้าทอดตนเป็นสะพานเพื่อพระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยคิดว่าขอพระพุทธเจ้าจงทรงเหยียบหลังเรา เสด็จข้ามไปพร้อมกับพระขีณาสพทั้งหลาย เสมือนทรงเหยียบสะพานเถิด

เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จใกล้เข้ามาโดยลำดับ สุเมธดาบสได้เห็นพระรูปโฉมของพระทีปังกรพุทธเจ้า อันประกอบด้วยมหาปุริสลักษณะ 32 ประการ พร้อมอนุพยัญชนะ 80 เปล่งพระพุทธรัศมีงดงาม สุเมธดาบสก็ยิ่งเกิดปีติเลื่อมใส ตั้งความปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าอธิษฐานว่า เราจักบรรลุพระสัพพัญญุตญาณเป็นพระพุทธเจ้าในโลก จักยังมนุษยโลก พร้อมทั้งเทวโลกให้ข้ามพ้นโอฆะ (ห้วงน้ำคือกิเลสของหมู่สัตว์) ด้วยกุศลอันยิ่งใหญ่ในครั้งนี้

 ลายไทยปิดบรรทัด

กลับไปที่ภาพชุด