ภาพพาณิชสองคนคือ ตปุสสะ และภัลลิกะ ได้เข้าเฝ้าพระบรมศาสดา และถวายสัตตุผงสัตตุก้อน ชื่อว่าเป็นอุบาสก อุบาสิกา คู่แรกในพุทธศาสนา |
เช้าวันรุ่งขึ้น ขณะที่ประทับอยู่ที่ควงไม้ราชายตนะนั้น พาณิชสองคนชื่อ ตปุสสะ และ ภัลลิกร เดินทางจากอุกกลชนบท จะไปยังมัชฌิมประเทศด้วยขบวนเกวียน ๕๐๐ เล่ม เทวดาผู้เป็นญาติสาโลหิตของตนในชาติก่อนมากั้นขบวนเกียนไว้ กล่าวว่า ท่านผู้นิรทุกข์ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอุบัติขึ้นแล้ว ขณะนี้ประทับอยู่ ณ ควงไม้ราชายตนะ ท่านทั้งสองจงไปบูชาพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยอาหารบิณฑบาตเถิด การบูชาของท่านทั้งสองนั้น จักเป็นไปเพื่อประโยชน์และความสุขแก่ท่านทั้งสองตลอดกาล
สองพาณิชนั้นจึงเข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดา ถวายบังคมแล้ว กราบทูลว่า ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับ สัตตุผงสัตตุก้อนของข้าพระพุทธเจ้าทั้งสองด้วยเถิด พระพุทธเจ้าข้า
ขณะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปริวิตกว่า พระตถาคตทั้งหลายองค์ก่อนๆไม่รับของถวายด้วยพระหัตถ์เลย เราจะพึงรับสุตตุผลและสัตตุก้อนนี้ด้วยอะไร เพราะบาตรได้หายไปในวันที่รับข้าวมธุปายาสของนางสุชาดานั่นเอง
ครั้งนั้น ท้าวมหาราชทั้ง ๔ ทรงทราบปริวิตกแห่งจิตของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว เสด็จมาจากทิศทั้ง ๔ ทรงน้อมบาตรอันสำเร็จด้วยแก้วมรกตเข้าไปถวาย พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปฏิเสธบาตรเหล่านั้น ท้าวมหาราชทั้ง ๔ องค์จึงน้อมนำบาตรดินสีเขียว ๔ ใบ เข้าไปถวายแทนบาตรแก้วมรกตนั้น
เพื่อจะทรงอนุเคราะห์ศรัทธาของท้าวมหาราชทั้ง ๔ องค์ พระบรมศาสดาจึงทรงรับบาตรทั้ง ๔ ใบ นำมาวางซ้อนกันแล้วอธิษฐานว่า ขอจงเป็นบาตรใบเดียว บาตรทั้ง ๔ จึงรวมเป็นบาตรใบเดียวกันโดยไม่มีรอยปรากฏที่ขอบบาตร พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงใช้บาตรดินนั้นรับสัตตุผลสัตตุก้อน เสวยแฃ้วทรงกระทำอนุโมทนา
ครั้งนั้น ตปุสสะ และภัลลิกะได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระพุทธเจ้าทั้งสอง ขอถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า และพระธรรมว่าเป็นสรณะ (เวลานั้นยังไม่มีพระสงฆ์) ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงทรงจำข้าพระพุทธเจ้าทั้งสอง ว่าเป็นอุบาสกผู้มอบชีวิตถึงสรณะ จำเดิมแต่บัดนี้เป็นต้นไป
พาณิชสองพี่น้องจึงชื่อว่า เทฺววาสิกอุบาสก นับเป็นอุบาสกคู่แรกในพระพุทธศาสนา
ในอรรถกถาพระวินัยปิฎก มหาวรรค ราชายตนกถา กล่าวว่า
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ประทานพระเกศธาตุแก่เขาทั้งสอง พาณิชทั้งสองนั้นราวกับได้อภิเษกด้วยอมตธรรม รื่นเริงยินดี บรรจุพระเกศธาตุเหล่านั้นไว้ภายในผอบทอง ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า กระทำประทักษิณแล้วหลีกไป นำพระเกศธาตุไปประดิษฐานไว้ในพระเจดีย์ที่เมืองอสิตัญชนะ อันเป็นบ้านเกิดของตน
เรื่องสถานที่พระศาสดาประทับอยู่ หลังจากตรัสรู้แล้ว ในพระบาลีกล่าวว่า พระพุทธองค์ประทับอยู่ ณ สถานที่ ๔ แห่ง แห่งละ ๑ สัปดาห์คือ โพธิบัลลังก์ ต้นอชปาลนิโครธ ต้นมุจลินท์ และต้นราชายตนะ แต่ในอรรถกถาทุกแห่งกล่าวว่า พระพุทธองค์ประทับอยู่ ๗ แห่ง แห่งละ ๑ สัปดาห์
เรียบเรียงจากหนังสือ พระพุทธประวัติ โดย สุรีย์ มีผลกิจ
กลับไปที่ภาพชุดที ๓ |