Blog Archives


ชุด ๓ ภาพที่ ๕ ภาพพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงโปรดชฎิล-3-พี่น้อง

ภาพพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงโปรดชฎิล 3 พี่น้อง ทำให้จิตของทั้ง 3 รวมถึงภิกษุชฎิลทั้งพันรูป

     พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จจาริกโดยลำดับ จนถึงตำบลอุรุเวลาเสนานิคม สมัยนั้นชฎิลสามพี่น้อง คือ อุรุเวลกัสสปะ ประธานของเหล่าชฎิล ๕๐๐ คน นทีกัสสปะ ประธานของเหล่าชฎิล ๓๐๐ คน คยากัสสปะ ประธานของเหล่าชฎิล ๒๐๐ คน ตั้งสำนักอยู่ ณ อุรุเวลาเสนานิคมนี้

     พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเข้าไปสู่อาศรมของอุรุเวลกัสสปะ หลังจากมีปฏิสันถารกันตามสควรแล้วจึงตรัสว่า กัสสปะ ถ้าท่านไม่ขัดข้อง เราจะขออาศัยพักอยู่ในโรงบูชาเพลิงของท่านสักราตรีหนึ่ง

     อุรุเวลกัสสปะตอบว่า ข้าแต่มหาสมณ ข้าพเจ้าไม่ขัดข้องเลย แต่ในดรงบูชาเพลิงนั้นมีพญานาคดุร้าย มีฤทธิ์ พิษร้ายแรงอาศัยอยู่ มันอาจจะทำให้ท่านลำบาก

     พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า เราแน่ใจว่าพญานาคคงจะไม่ทำอันตรายเรา ขอท่านจงอนุญาตให้เราพักอาศัยในที่นั้นเถิด แม้ครั้งที่สอง แม้ครั้งที่สาม อุรุเวลกัสสปะจึงกล่าวว่า ข้าแต่มหาสมณะ เชิญท่านพำนักในโรงบูชาเพลิงตามความประสงค์เถิด

     เมื่ออุรุเวลกัสสปะกล่าวอนุญาตดังนั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเข้าไปสู่โรงบูชาเพลิง ทรงลาดสันถัต ประทับนั่งขัดสมาธิ ตั้งพระกายตรงดำรงสติไว้มั่น นับแต่นั้นได้เกิดปฏิหาริย์ปรากฏแก่อุรุเวลกัสสปะถึง ๑๑ ครั้ง

  • ปาฏิหาริย์ที่ ๑ พระพุทธองค์ทรงขดพญานาคไว้ในบาต แล้วทรงแสดงแก่ชฎิลนั้น ตรัสว่า อุรุเวลกัสสปะ นี่พญานาคของท่าน เราครอบงำไว้ด้วยเดชของเราแล้ว ครั้นทราบความ อุรุเวลกัสสปะเลื่อมใสในอิทธิฤทธิ์ปฏิหาริย์ของพระผู้มีพระภาคเจ้ายิ่งนัก ดำริว่า พระมหาสมณะนี้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากแท้ แต่พระมหาสมณะนี้ก็ไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนเราแน่

  • ปาฏิหาริย์ที่ ท้าวมหาราชทั้ง ๔ (จอมเทพ ๔ องค์ผู้รักษาคุ้มครองโลกใน ๔ ทิศ อันได้แก่ ท้าวธตรฐ ท้าววิรุฬหก ท้าววิรูปักษ์ และท้าวกุเวร) มาเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อฟังธรรม ส่งรัศมีงาม ยังไพรสณฑ์ทั้งสิ้นให้สว่างไสว ครั้นทราบความ อุรุเวลกัสสปะเลื่อมใสในอิทธิฤทธิ์ปฏิหาริย์ของพระผู้มีพระภาคเจ้ายิ่งนัก ดำริว่า พระมหาสมณะนี้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากแท้ แต่พระมหาสมณะนี้ก็ไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนเราแน่

  • ปาฏิหาริย์ที่ ๓ ท้าวสักกะจอมเทพมาเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าเพื่อฟังธรรม อันทำให้เกิดรัศมีงาม ปราณีตกว่ารัศมีของท้าวมหาราช ครั้นทราบความ อุรุเวลกัสสปะเลื่อมใสในอิทธิฤทธิ์ปฏิหาริย์ของพระผู้มีพระภาคเจ้ายิ่งนัก ดำริว่า พระมหาสมณะนี้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากแท้ แต่พระมหาสมณะนี้ก็ไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนเราแน่

  • ปาฏิหาริย์ที่ ท้าวสหัมบดีพรหม มาเผ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าเพื่อฟังธรรม ได้เปล่งรัศมีงามยังไพรสณฑ์ทั้งสิ้นให้สว่างไสวดุจไฟกองใหญ่ ครั้นทราบความ อุรุเวลกัสสปะเลื่อมใสในอิทธิฤทธิ์ปฏิหาริย์ของพระผู้มีพระภาคเจ้ายิ่งนัก ดำริว่า พระมหาสมณะนี้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากแท้ แต่พระมหาสมณะนี้ก็ไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนเราแน่

  • ปาฏิหาริย์ที่ ก่อนทำพิธีบูชาไฟอุรุเวลกัสสปะ ได้เตรียมการเป็นการใหญ่ อุรุเวลกัสสปะดำริว่า ถ้าพระมหาสมณะจักทำอิทธิปาฏิหาริย์ในหมู่มหาชน ลาภสักการะก็จักเจริญยิ่งแก่พระมหาสมณะลาภสักการะของเราจักเสื่อม ทำไฉน วันพรุ่งนี้พระมหาสมณะจึงจะไม่มาฉันที่นี่ พระพุทธองค์ทรงทราบความปริวิตกแห่งจิตของอุรุเวลกัสสปะแล้ว เสด็จไปยังอุตตรกุรุทวีป นำบิณฑบาตจากอุตตรกุรุทวีปมาเสวยที่ริมสระอโนดาต ครั้นทราบความ อุรุเวลกัสสปะเลื่อมใสในอิทธิฤทธิ์ปฏิหาริย์ของพระผู้มีพระภาคเจ้ายิ่งนัก ดำริว่า พระมหาสมณะนี้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากแท้ แต่พระมหาสมณะนี้ก็ไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนเราแน่

  • ปาฏิหาริย์ที่ ท้าวสักกะและเทวดาเนรมิตสระโบกขรณี ให้พระผู้มีพระภาคเจ้าซักผ้าบังสุกุล เนรมิตศิลาแผ่นใหญ่มาไว้ ให้ขยำผ้า น้อมกิ่งกุ่มมาให้พระผู้มีพระภาคเจ้าพาดผ้าบังสุกุล ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นด้วยการเนรมิตของท้าวสักกะและเทวดาที่สถิตอยู่ ณ ต้นกุ่มบก ครั้นทราบความ อุรุเวลกัสสปะ ดำริว่า พระมหาสมณะนี้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากแท้ แต่พระมหาสมณะนี้ก็ไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนเราแน่

  • ปาฏิหาริย์ที่ เมื่ออุรุเวลกัสสปะมาเชิญพระผู้มีพระภาคเจ้าไปฉันภัตตาหารที่โรงบูชาเพลิง พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงเสด็จไปเก็บผลหว้าจากต้นหว้าประจำชมพูทวีป และได้ทรงเสด็จไปเก็บผลมะม่วง ผลมะขามป้อม ผลสมอ ในที่ไม่ไกลจากต้นหว้าประจำชมพูทวีปนั้น แล้วเสด็จไปสู่ภพดาวดึงส์ ทรางเก็บดอกปาริฉัตรแล้วมาประทับนั่งในโรงบูชาเพลิงก่อนที่อุรุเวลกัสสปะจะมาถึง แม้อุรุเวลกัสสปะ ดำริว่า พระมหาสมณะนี้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากเพียงนี้แล้ว ก็ยังมีความมั่นใจว่าถึงอย่างไร พระองค์ก็ไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนเราอยู่เช่นเดิม

  • ปาฏิหาริย์ที่ ๘ ในการเตรียมการบำเรอไฟวันหนึ่ง เหล่าชฎิลไม่อาจผ่านฟืนได้ แต่เมื่อพระบรมศาสดาตรัสกับอุรุเวลกัสสปะให้ผ่าฟืน ชฎิลทั้งหลายผ่านฟืน ๕๐๐ ท่อน สำเร็จด้วยการผ่าเพียงครั้งเดียวเท่านั้น อุรุเวลกัสสปะเห็นดังนั้น ดำริว่า พระมหาสมณะมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากแท้ ถึงกับให้พวกชฎิลผ่าฟืนสำเร็จได้เช่นนี้ แต่ก็ไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนเราแน่

  • ปาฏิหาริย์ที่ ๙ ครั้นเมื่อถึงเวลาบำเรอไฟ เหล่าชฎิลก็ไม่สามารถจะก่อไฟให้ลุกได้ แลเมื่อพระบรมศาสดาตรัสกับอุรุเวลกัสสปะว่า ท่านจงให้พวกชฎิลก่อไฟให้ลุกเถิด ไฟทั้ง ๕๐๐ กอง ได้ลุกขึ้นพร้อมกันในคราวเดียว แม้กระนั้นอุรุเวลกัสสปะก็ยังมีความดำริว่า พระมหาสมณะมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากแท้ ถึงกับให้พวกชฎิลก่อไฟได้สำเร็จเช่นนี้ แต่ก็ไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนเราแน่

  • ปาฏิหาริย์ที่ ๑๐ ต่อมาเป็นเหมันตฤดู ชฎิลเหล่านั้นพากันลงไปอาบน้ำตามประเพณี ในแม่น้ำเนรัญชรา ซึ่งเป็นช่วงที่มีอากาศหนาวจัด พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเนรมิตกองไฟไว้ ๕๐๐ กอง เตรียมให้ชฎิลเหล่านั้นผิงเมื่อขึ้นจากน้ำแล้ว ชฎิลเหล่านั้นดำริว่า กองไฟเหล่านี้ถูกเนรมิตไว้นั้น คงต้องเป็นอิทธานุภาพของพระมหาสมณะโดยไม่ต้องสงสัย อุรุเวลกัสสปะก็ยังดำริเช่นเดิมอีกว่า แม้พระมหาสมณะมีฤทธิ์มากมีอานุภาพ ถึงกับเนรมิตกองไฟได้มากมาย แต่ก็ยังไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนเราแน่

  • ปาฏิหาริย์ที่ ๑๑ ครั้งนั้นเมฆใหญ่ในสมัยที่มิใช่ฤดูกาล ยังฝนให้ตก ห้วงน้ำใหญ่ได้ไหลนองไปแม้ในสถานที่ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ก็ถูกน้ำท่วม ขณะนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงดำริว่า เราจะบันดาลให้น้ำห่างออกไปโดยรอบ จึงทรงบันดาลให้น้ำห่างออกไปโดยรอบ แล้วได้เสด็จจงกรมอยู่บนภาคพื้นอันแห้งสนิทตอนกลางนั้น อุรุเวลกันสปะเห็นน้ำท่วมที่ประทับ คิดว่า พระมหาสมณะอย่าได้ถูกน้ำพัดไปเสียเลย กลับได้เห็นดังนั้นจึงดำริว่า พระมหาสมณะนี้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากแท้ ถึงกับบันดาลไม่ให้น้ำไหลเข้าไปได้ แต่แม้กระนั้นก็ไม่เป็นอรหันต์เหมือนเราแน่

อุรุเวลกัสสปะทุลขอบรรพชาอุปสมบท

                ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้ามีพระดำริว่า โมหบุรุษนี้ได้มีความคิดอย่างนี้มานานแล้วว่า พระมหาสมณะมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากแท้ แต่ก็ไม่เป็นอรหันต์เหมือนเรา  ถ้ากะไรเราพึงให้ชฎิลนี้สลดใจ จึงตรัสว่า กัสสปะ ท่านไม่ใช่พระอรหันต์ทั้งยังไม่พบทางแห่งความเป็นพระอรหันต์ แม้แต่ปฏิปทาของท่านที่จะเป็นเหตุให้เป็นพระอรหันต์ หรือพบทางแห่งความเป็นพระอรหันต์ก็ยังไม่มี อุรุเวลกัสสปะฟังพระดำรัสนั้นแล้ว ซบศีรษะลงแทบพระบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้า ทูลขอบรรพชาอุปสมบทต่อพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ขอข้าพระพุทธเจ้าพึงได้บรรพชา พึงได้อุปสมบทในสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้าเถิด พระพุทธเจ้าข้า

     พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า กัสสปะ ท่านเป็นประธานของชฎิล ๕๐๐ คน ท่านจงบอกกล่าวชฎิลเหล่านั้นให้ทราบความประสงค์ของท่านก่อน

     ลำดับนั้น อุรุเวลกัสปะได้แจ้งความประสงค์ต่อบริวารเหล่านั้น ชฎิลบริวารกราบเรียนว่า ท่านอาจารย์ พวกข้าพเจ้าเลื่อมใสยิ่งในพระมหาสมณะโคดมมานานแล้ว หากอาจารย์ประสงค์จะประพฤติพรหมจรรย์ตามพระมหาสมณะ พวกข้าพเจ้าทั้งหมดก็จักประพฤติตามพระมหาสมณะด้วยเช่นเดียวกัน

     ชฎิลเหล่านั้นได้ลอยชฎา บริขาร และเครื่องบูชาพระเพลิงลงในแม่น้ำ แล้วพากันไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ซบศีรษะลงแทบพระบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้า ทูลขอบรรพชาอุปสมบทว่า ขอพวกข้าพระองค์ พึงได้บรรพชาพึงได้อุปสมบท ในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้าเถิดพระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า พวกเธอจงเป็นภิกษุมาเถิด แล้วตรัสต่อไปว่า ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว พวกเธอจงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบเถิด

     พระวาจานั้นเป็นอุปสมบทกรรมของอุรุเวลกัสสปะ พร้อมด้วยชฎิลบริวาร ๕๐๐

นทีกัสสปะทูลขอบรรพชาอุปสมบท

     นทีกัสสปะ ได้เห็นชฎา บริขาร และเครื่องบูชาเพลิงลอยน้ำมา มีความดำริว่าขออุปสรรคอย่าได้มีแก่พี่ชายของเราเลย แล้วตนเองกับบริวาร ๓๐๐ ได้ไปหาพระอุรุเวลกัสสปะเรียนถามว่า ข้าแต่พี่กัสสปะ พรหมจรรย์นี้ประเสริฐแน่หรือ

     พระอุรุเวลกัสสปะตอบว่า แน่ละเธอ พรหมจรรย์นี้ประเสริฐ

     นทีกัสสปะ และเหล่าบริวารจึงลอยชฎา บริขาร และเครื่องบูชาเพลิงลงในแม่น้ำ แล้วพากันไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ซบศีรษะลงแทบพระบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้า ทูลขอบรรพชาอุปสมบท พรผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า พวกเธอจงเป็นภิกษุมาเถิด แล้วตรัสต่อไปว่า ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว พวกเธอจงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบเถิด

     พระวาจานั้นเป็นอุปสมบทกรรมของนทีกัสสปะ พร้อมด้วยชฎิลบริวาร ๓๐๐

คยากัสสปะทูลขอบรรพชาอุปสมบท

      คยากัสสปะ ได้เห็นชฎา บริขาร และเครื่องบุชาเพลิงลอยน้ำมา มีความดำริว่า ขออุปสรรคอย่าได้มีแก่พี่ชายของเราเลย แล้วทั้งตนเองกับบริวาร ๒๐๐ ได้ไปหาพระอุรุเวลกัสสปะเรียนถามว่า ข้าแต่พี่กัสสปะ พรหมจรรย์นี้ประเสริฐแน่หรือ

     พระอุรุเวลกัสสปะตอบว่า แน่ละเธอ พรหมจรรย์นี้ประเสริฐ

     คยากัสสปะและเหล่าบริวารจึงลอยชฎา บริขาร และเครื่องบูชาเพลิงลงในแม่น้ำ แล้วพากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ซบศีรษะลงแทบพระบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้า ทูลขอบรรพชาอุปสมบท พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า พวกเธอจงเป็นภิกษุมาเถิด แล้วตรัสต่อไปว่า ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว พวกเธอจงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบเถิด

     พระวาจานั้นเป็นอุปสมบทกรรมของคยากัสสปะ พร้อมด้วยชฎิลบริวาร ๒๐๐

ทรงแสดงอาทิตตปริยายสูตร

                พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ ตำบลอุรุเวลาตามพระพุทธาภิรมย์แล้ว ได้เสด็จจาริกไปสู่ตำบล คยาสีสะ พร้อมด้วยภิกษสงฆ์หมู่ใหญ่ ๑๐๐๐ รูป ล้วนเป็นปุราณชฎิล ประทับอยู่ใกล้แม่น้ำคยา ณ ที่นั้น

พระพุทธองค์ทรงแสดง อาทิตตปริยายสูตร แก่ภิกษุชฎิล ๑๐๐๐ รูป ดังนี้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งทั้งปวงเป็นของร้อน

  • จักษุเป็นของร้อน – รูปทั้งหลายเป็นของร้อน

  • โสตะเป็นของร้อน – เสียงทั้งหลายเป็นของร้อน

  • ฆานะเป็นของร้อน – กลิ่นทั้งหลายเป็นของร้อน

  • ชิวหาเป็นของร้อน – รสทั้งหลายเป็นของร้อน

  • กายเป็นของร้อน – สัมผัสที่อาศัยกายเป็นของร้อน

  • มนะเป็นของร้อน – ธรรมทั้งหลายเป็นของร้อน

ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้ฟัง แล้วพิจารณาตามนี้

  • ย่อมเบื่อหน่ายในจักษุ – เบื่อหน่ายในรูปทั้งหลาย

  • ย่อมเบื่อหน่ายในโสตะ – เบื่อหน่ายในเสียงทั้งหลาย

  • ย่อมเบื่อหน่ายในฆานะ – เบื่อหน่ายในกลิ่นทั้งหลาย

  • ย่อมเบื่อหน่ายในชิวหา – เบื่อหน่ายในรสทั้งหลาย

  • ย่อมเบื่อหน่ายในกาย – เบื่อหน่ายในสัมผัสที่อาศัยกาย

  • ย่อมเบื่อหน่ายในมนะ – เบื่อหน่ายในธรรมทั้งหลาย

ภิกษุทั้งหลาย เมื่อเบื่อหน่ายย่อมสิ้นกำหนัด เพราะสิ้นกำหนัดจิตก็พ้น เมื่อจิตพ้นก็รู้ว่าพ้นแล้ว อริยสาวกนั้นทราบชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำสำเร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้ไม่มี

ขณะที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไวยากรณภาษิตนี้อยู่ จิตของภิกษุชฎิลทั้ง ๑๐๐๐ รูปนั้น พ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น

 

เรียบเรียงจากหนังสือ พระพุทธประวัติ โดย สุรีย์ มีผลกิจ

Go to Top

กลับไปที่ภาพชุดที ๓

ชุด๓ ภาพที่ ๔ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง-ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร

ภาพที่ ๔ : พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ซึ่งเป็นพระปฐมเทศนาแก่ปัญจวัคคีย์ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน

          พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จจาริกไปโดยลำดับ ถึงอิสิปตนมฤคทายวัน กรุงพาราณสี เสด็จเข้าไปยังสำนักปัญจวัคคีย์ ปัญจวัคคีย์เห็นพระตถาคตเสด็จมาแต่ไกล ได้นัดหมายกันและกันว่าท่านทั้งหลาย พระสมณโคดมนี้เป็นผู้คลายความเพียร เวียนมาเพื่อความเป็นคนมักมากในปัจจัย มีร่างกายสมบูรณ์ มีอินทรีย์ผ่องใส มีวรรณะดุจทองกำลังเสด็จมา พวกเราไม่พึงอภิวาท ไม่พึงลุกขึ้นต้อนรับ ไม่พึงรับบาตร แต่พระองค์ประสูติในตระกูลใหญ่ เราสมควรจัดวางอาสนะไว้ เมื่อพระองค์ทรงปรารถนาก็จะประทับนั่ง

         ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปถึง ปัญจวัคคีย์กลับไม่ตั้งอยู่ในกติกาของตน ต่างลุกขึ้นต้อนรับ รูปหนึ่งรับบาตร รูปหนึ่งปูอาสนะ รูปหนึ่งจัดหาน้ำล้างพระบาท รูปหนึ่งจัดตั้งตั่งรองพระบาท รูปหนึ่งนำผ้าเช็ดพระบาทเข้าไปถวาย พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งบนอาสนะแล้ว ทรงยังปัญจวัคคีย์ให้ทราบถึงการตรัสรู้ของพระองค์

         พระพุทธองค์ตรัสกับปัญจวัคคีย์ว่า พวกเธอทั้งหลาย บัดนี้เราได้บรรลุอมตธรรมแล้ว เราจะแสดงธรรมนั้นแก่พวกเธอ เมื่อปฏิบัติตามที่เราสั่งสอนแล้ว ไม่นานเท่าใด จักทำให้แจ้งซึ่งคุณอันยอดเยี่ยม อันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ที่กุลบุตรทั้งหลายออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตต้องการ ด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบัน

         ปัญจวัคคีย์ทูลว่า แม้ด้วยจริยา แม้ด้วยปฏิปทา และทุกรกิริยานั้นพระองค์ก็ยังไม่ได้บรรลุธรรม อันเป็นความรู้ความเห็นอย่างประเสริฐ บัดนี้พระองค์คลายความเพียร เวียนมาเป็นคนมักมาก ไฉนจักบรรลุธรรมนั้นได้

         พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ตถาคตมิได้คลายความเพียร เวียนมาเป็นคนมักมาก ตถาคตเป็นอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยปัญญาของตนเองโดยชอบ หากพวกเธอสนใจและปฏิบัติตามธรรมที่ตถาคตจะแสดง ไม่นานเท่าใด ก็จักทำให้แจ้งถึงคุณอันยอดเยี่ยม อันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ได้

         แม้ครั้งที่สอง……………ฯลฯ……………….

         แม้ครั้งที่สาม ปัญจวัคคีย์ก็ยังได้ทูลค้าน พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสย้ำอีกว่า พวกเธอทั้งหลาย ตถาคตมิได้คลายความเพียร เวียนมาเป็นคนมักมาก ตถาคตเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยปัญญาของตนเองโดยชอบ บัดนี้ตถาคตได้บรรลุอมตธรรมแล้ว หากพวกเธอปฏิบัติตามธรรมที่ตถาคตแสดง ไม่นานเท่าใดก็จักทำให้แจ้งถึงคุณอันยอดเยี่ยม อันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ที่กุลบุตรทั้งหลายออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตต้องการ ด้วยปัญญาอันยิ่งของตนเอง

         พระบรมศาสดาทรงยืนยันการบรรลุอมตธรรมแล้ว จึงตรัสถามเหล่าปัญจวัคคีย์ว่า ตลอดเวลา ๖ ปีที่อยู่ร่วมกันมา ตถาคตเคยกล่าวคำว่า ตรัสรู้ ให้พวกเธอได้รับฟังบ้างหรือไม่

         ปัญจวัคคีย์กราบทูลว่า ถ้อยคำเช่นนี้พวกข้าพระองค์ไม่เคยได้ฟังมาก่อนเลย พระเจ้าข้า บัดนี้เหล่าข้าพระองค์แน่ใจว่า พระองค์ได้บรรลุอมตธรรมแล้วโดยแท้ ขอพระองค์ได้โปรดแสดงอมตธรรมนั้น แก่เหล่าข้าพระองค์ด้วยเถิด

         พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงชี้แจงให้ปัญจวัคคีย์ยินยอมได้แล้ว ปัญจวัคคีย์ได้ยอมเชื่อฟังพระผู้มีพระภาคเจ้า ต่างตั้งจิตสดับฟังเพื่อความรู้ยิ่ง

เรียบเรียงจากหนังสือ พระพุทธประวัติ โดย สุรีย์ มีผลกิจ

Go to Top

กลับไปที่ภาพชุดที ๓

ชุด๓ ภาพที่ ๓ อุบาสก อุบาสิกาคู่แรกในพระพุทธศาสนา

ภาพพาณิชสองคนคือ ตปุสสะ และภัลลิกะ ได้เข้าเฝ้าพระบรมศาสดา และถวายสัตตุผงสัตตุก้อน ชื่อว่าเป็นอุบาสก อุบาสิกา คู่แรกในพุทธศาสนา

     เช้าวันรุ่งขึ้น ขณะที่ประทับอยู่ที่ควงไม้ราชายตนะนั้น พาณิชสองคนชื่อ ตปุสสะ และ ภัลลิกร เดินทางจากอุกกลชนบท จะไปยังมัชฌิมประเทศด้วยขบวนเกวียน ๕๐๐ เล่ม เทวดาผู้เป็นญาติสาโลหิตของตนในชาติก่อนมากั้นขบวนเกียนไว้ กล่าวว่า ท่านผู้นิรทุกข์ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอุบัติขึ้นแล้ว ขณะนี้ประทับอยู่ ณ ควงไม้ราชายตนะ ท่านทั้งสองจงไปบูชาพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยอาหารบิณฑบาตเถิด การบูชาของท่านทั้งสองนั้น จักเป็นไปเพื่อประโยชน์และความสุขแก่ท่านทั้งสองตลอดกาล

     สองพาณิชนั้นจึงเข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดา ถวายบังคมแล้ว กราบทูลว่า ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับ สัตตุผงสัตตุก้อนของข้าพระพุทธเจ้าทั้งสองด้วยเถิด พระพุทธเจ้าข้า

     ขณะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปริวิตกว่า พระตถาคตทั้งหลายองค์ก่อนๆไม่รับของถวายด้วยพระหัตถ์เลย เราจะพึงรับสุตตุผลและสัตตุก้อนนี้ด้วยอะไร เพราะบาตรได้หายไปในวันที่รับข้าวมธุปายาสของนางสุชาดานั่นเอง

     ครั้งนั้น ท้าวมหาราชทั้ง ๔ ทรงทราบปริวิตกแห่งจิตของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว เสด็จมาจากทิศทั้ง ๔ ทรงน้อมบาตรอันสำเร็จด้วยแก้วมรกตเข้าไปถวาย พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปฏิเสธบาตรเหล่านั้น ท้าวมหาราชทั้ง ๔ องค์จึงน้อมนำบาตรดินสีเขียว ๔ ใบ เข้าไปถวายแทนบาตรแก้วมรกตนั้น

     เพื่อจะทรงอนุเคราะห์ศรัทธาของท้าวมหาราชทั้ง ๔ องค์ พระบรมศาสดาจึงทรงรับบาตรทั้ง ๔ ใบ นำมาวางซ้อนกันแล้วอธิษฐานว่า ขอจงเป็นบาตรใบเดียว บาตรทั้ง ๔ จึงรวมเป็นบาตรใบเดียวกันโดยไม่มีรอยปรากฏที่ขอบบาตร พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงใช้บาตรดินนั้นรับสัตตุผลสัตตุก้อน เสวยแฃ้วทรงกระทำอนุโมทนา

     ครั้งนั้น ตปุสสะ และภัลลิกะได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระพุทธเจ้าทั้งสอง ขอถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า และพระธรรมว่าเป็นสรณะ (เวลานั้นยังไม่มีพระสงฆ์) ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงทรงจำข้าพระพุทธเจ้าทั้งสอง ว่าเป็นอุบาสกผู้มอบชีวิตถึงสรณะ จำเดิมแต่บัดนี้เป็นต้นไป

พาณิชสองพี่น้องจึงชื่อว่า เทฺววาสิกอุบาสก นับเป็นอุบาสกคู่แรกในพระพุทธศาสนา

ในอรรถกถาพระวินัยปิฎก มหาวรรค ราชายตนกถา กล่าวว่า

     พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ประทานพระเกศธาตุแก่เขาทั้งสอง พาณิชทั้งสองนั้นราวกับได้อภิเษกด้วยอมตธรรม รื่นเริงยินดี บรรจุพระเกศธาตุเหล่านั้นไว้ภายในผอบทอง ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า กระทำประทักษิณแล้วหลีกไป นำพระเกศธาตุไปประดิษฐานไว้ในพระเจดีย์ที่เมืองอสิตัญชนะ อันเป็นบ้านเกิดของตน

     เรื่องสถานที่พระศาสดาประทับอยู่ หลังจากตรัสรู้แล้ว ในพระบาลีกล่าวว่า พระพุทธองค์ประทับอยู่ ณ สถานที่ ๔ แห่ง แห่งละ ๑ สัปดาห์คือ โพธิบัลลังก์ ต้นอชปาลนิโครธ ต้นมุจลินท์ และต้นราชายตนะ แต่ในอรรถกถาทุกแห่งกล่าวว่า พระพุทธองค์ประทับอยู่ ๗ แห่ง แห่งละ ๑ สัปดาห์

เรียบเรียงจากหนังสือ พระพุทธประวัติ โดย สุรีย์ มีผลกิจ

Go to Top

กลับไปที่ภาพชุดที ๓

ชุด๓-ภาพที่-๑-ภาพนางพระธรณีบิดมวยผม

ภาพนางพระธรณีบิดมวยผมให้สายน้ำพัดพาพญามารซึ่งขี่ช้างคิรีเมขล์ พร้อมทั้งพลมารซึ่งกระทำการเพื่อให้พระโพธิสัตว์ลุกหนีไปจากการบำเพ็ญเพียร

 

          ครั้งนั้น พญามารคิดว่า สิทธัตถะนี้ประสงค์จะก้าวล่วงอำนาจของเรา เราจักไม่ให้สิทธัตถะล่วงพ้นไปได้ จึงยกพลมารออกมา สั่งให้พลมารล้อมพระโพธิสัตว์ไว้ทั้ง 4 ด้าน ข้างหน้าและข้างหลังมีระยะทางยาวด้านละ 12 โยชน์ ข้างซ้ายและข้างขวาด้านละ 9 โยชน์ ซึ่งเมื่อเสียงโห่ร้องนั้นบันลือขึ้น จะได้ยินเหมือนเสียงแผ่นดินทรุด

         พญามารขี่ช้างชื่อ คิรีเมขล์ เนรมิตแขนพันแขน สำหรับถืออาวุธนานาชนิด พลมารนอกนั้นต่างก็ถืออาวุธคนละชนิด พากันเข้ามาห้อมล้อมพระโพธิสัตว์ผู้ประทับนั่ง ณ ควงโพธิพฤกษ์

         เมื่อพลมารเข้าไปใกล้โพธิมณฑล บรรดาเทพเหล่านั้นแม้แต่สักองค์หนึ่งก็ไม่อาจจะยืนอยู่ ณ ที่นั้นได้ พากันหนีไปทันที ท้าวสักกเทวราชลากวิชยุตรสังข์ไปยืนที่ขอบจักรวาล ท้าวมหาพรหมจับยอดเศวตฉัตรเสด็จไปยังพรหมโลกทันที แม้พญากาฬนาคราชก็ดำดินไปยังมัญเชริกนาคภพ เหลือแต่พระโพธิสัตว์ประทับนั่งอยู่บนบัลลังก์เพียงพระองค์เดียว

         พญามารกล่าวกับบริษัทของตนว่า ชื่อว่าบุรุษอื่นจะเสมอเหมือนสิทธัตถะ พระโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะย่อมไม่มี พวกเราไม่อาจจักทำการซึ่งหน้าได้ พวกเราจักทำการทางด้านหลัง

         พระโพธิสัตว์ทรงมองไปรอบด้าน เห็นพลมารหนุนเนื่องเข้ามาทางด้านหลังอีก จึงมีพระดำริว่า พลมารประมาณเท่านี้กำลังกระทำความพากเพียรอย่างใหญ่หลวง เพื่อมุ่งหมายแต่เราผู้เดียว ในที่นี้เราไม่มีผู้ใดอื่น นอกจากบารมี 10 ที่ได้บำเพ็ญมาตลอดกาลนานเท่านั้น ฉะนั้น เราจักใช้ศาสตราคือบารมีนั่นแหละ ต่อสู้กับทัพมารเหล่านี้จึงจะควร แล้วทรงระลึกถึงบารมีทั้ง 10 ประการที่เคยอบรมสั่งสมมา ด้วยพระทัยอันมั่นคง

         พญามารคิดว่า จักให้พระโพธิสัตว์หนีไปด้วยลง จึงบันดาลมณฑลแห่งลมให้ตั้งขึ้น ลมนั้นถึงแม้ว่าสามารถจะทำลายยอดภูเขาใหญ่น้อยทั้งหลาย สามารถถอนต้นไม้ กอไม้ และทำคามนิคมรอบด้านให้ละเอียดเป็นจุณวิจุณไปได้ แต่เมื่อลมนั้นมาถึงพระโพธิสัตว์ ก็ไม่อาจกระทำแม้สักว่าชายจีวรให้ไหว ด้วยอานุภาพแห่งพระบารมีของของพระโพธิสัตว์

         พญามารจึงบันดาลให้ห่าฝนใหญ่ตั้งขึ้น ด้วยหวังว่าจักให้น้ำท่วม เมฆฝนอันมีหลืบร้อยหลืบพันหลืบ ตั้งขึ้นในเบื้องบนซ้อนๆกันแล้วตกลงมา ด้วยกำลังแห่งสายธารน้ำฝน แผ่นดินแยกออกเป็นช่องน้อยช่องใหญ่ แม้กระนั้น ก็ไม่อาจทำให้น้ำแม้สักเท่าหยาดน้ำค้างเปียกจีวรของพระโพธิสัตว์ได้

         จากนั้น พญามารบันดาลห่าฝนหินให้ตั้งขึ้น ศิลาก้อนใหญ่คุกรุ่นเป็นควันไป ลุกโพลงลอยมาทางอากาศ พอถึงพระโพธิสัตว์ก็กลับกลายเป็นกลุ่มดอกไม้ทิพย์

         แต่นั้น ได้บันดาลห่าฝนถ่านเพลิง ถ่านเพลิงทั้งหลายมีสีดังดอกทองกวาว ลอยมาทางอากาศ พอถึงพระโพธิสัตว์ก็กลายเป็นดอกไม้ทิพย์ โปรยปรายลงแทบบาทมูลของพระโพธิสัตว์

         จากนั้น มารจึงได้บันดาลห่าฝนเถ้ารึงให้ตั้งขึ้น เถ้ารึงร้อนจัดมีสีดังไฟลอยมาทางอากาศ แล้วกลายเป็นฝุ่นไม้จันทน์ ตกลงแทบบาทมูลของพระโพธิสัตว์

         ต่อจากนั้น ได้บันดาลห่าฝนทรายให้ตั้งขึ้น ทรายทั้งหลายละเอียดยิบ ลอยมาทางอากาศกลายเป็นดอกไม้ทิพย์ ตกลงแทบบาทมูลของพระโพธิสัตว์

         แต่นั้น จึงบันดาลห่าฝนเปือกตมให้ตั้งขึ้น เปือกตมนั้นลอยมาทางอากาศ กลายเป็นเครื่องลูไล้ทิพย์ ตกลงแทบบาทมูลของพระโพธิสัตว์

         ต่อแต่นั้น พญามารได้บันดาลความมืดให้ตั้งขึ้น ด้วยคิดว่าเราจักทำให้สิทธัตถะตกใจกลัวแล้วหนีไป แต่ความมืดนั้นพอถึงพระโพธิสัตว์ก็อันตรธานไป เหมือนถูกขจัดด้วยแสงสว่างแห่งพระอาทิตย์ ฉะนั้น

         ขณะที่เหล่ามาร กระทำการจู่โจมพระโพธิสัตว์อยู่นั้น

    • อุกกาบาตก็ตกลงโดยรอบ

    • ทิศทั้งหลายก็คลุ้มไปด้วยควัน

    • แผ่นดินก็สะเทือนปานประหนึ่งจะทรุด

    • มหาสมุทรก็ปั่นป่วน แม่น้ำทั้งหลายก็ไหลทวนกระแส

    • ลำต้นไม้ต่างๆก็คดงอ จมลงไปจนติดดิน

    • ลมร้ายก็พัดไปรอบ มีเสียงอึกทึกครึกโครม

    • ความมืดก็ปกคลุมอยู่ทั่วไป ลางร้ายอันพิลึกบังเกิดขึ้นทั้งในอากาศ และบนภาคพื้นดินเป็นอันมาก

         พญามารคิดว่าจักยังพระโพธิสัตว์ให้กลัวแล้วหนีไป แต่ก็ไม่อาจทำให้พระโพธิสัตว์หนีไปได้ แม้ด้วยฤทธิ์ของมารทั้ง 9 ประการคือ ลม ฝน ก้อนหิน เครื่องประหาร ถ่านไฟ เถ้ารึง ทราย โคลน และความมืด พระโพธิสัตว์ผจญกับการจู่โจมของเหล่ามาร ด้วยอานุภาพแห่งบารมีที่ได้บำเพ็ญสั่งสมมา

         พญามารเมื่อไม่สามารถเอาชนะพระโพธิสัตว์ได้ มีใจขึ้งโกรธมาก บังคับหมู่พลมารว่าพวกเจ้าจะหยุดอยู่ไย จงทำสิทธัตถะให้ไม่เป็นสิทธัตถะ จงทำให้สิทธัตถะหนีไป ส่วนตนเองนั่นอยู่บนคอช้างคิรีเมขล์ ถือจักราวุธเข้าไปใกล้พระโพธิสัตว์ แล้วกล่าวว่า สิทธัตถะ ท่านจงลุกขึ้นจากบัลลังก์ บัลลังก์นี้ไม่ควรแก่ท่าน บัลลังก์นี้ควรแก่เรา

         พระโพธิสัตว์ ได้ฟังคำของพญามารแล้ว ตรัสว่า ดูกรมาร ท่านไม่ได้บำเพ็ญบารมี 10 ไม่ได้บริจาคมหาบริจาค 5 ไม่ได้บำเพ็ญโลกัตถจริยา ญาตัตถจริยา และพุทธัตถจริยา ทั้งหมดนั้นเราได้บำเพ็ญมาแล้ว ดังนั้นบัลลังก์นี้จึงไม่ควรแก่ท่าน บัลลังก์นี้ควรแก่เราเท่านั้น

          มหาบริจาค 5 ได้แก่ การบริจาคร่างกาย บริจาคดวงตา บริจาคทรัพย์ การสละราชสมบัติ และการบริจาคบุตรภรรยา

    •  โลกัตถจริยา    การบำเพ็ญประโยชน์แก่โลก

    • ญาตัตถจริยา   การบำเพ็ญประโยชน์แก่พระญาติ

    • พุทธัตถจริยา   การบำเพ็ญประโยชน์โดยฐานะเป็นพระพุทธเจ้า

         พญามารอดกลั้นกำลังแห่งความโกรธไว้ไม่ได้ จึงขว้างจักราวุธใส่พระโพธิสัตว์ เมื่อพระโพธิสัตว์ทรงรำพึงถึงบารมี 10 จักราวุธนั้นได้กลายเป็นเพดานดอกไม้ตั้งอยู่ ณ เบื้องบน จักราวุธนั้นคมกล้านัก สามารถจะตัดเสาหินให้ขาดไปได้เสมือนตัดหน่อไม้ไผ่

         บัดนี้ เมื่อจักราวุธกลายเป็นเพดานดอกไม้ตั้งอยู่ เหล่ามารจึงพากันปล่อยก้อนหินใหญ่ให้กลิ้งมา ด้วยคิดว่าจักให้สิทธัตถกุมารลุกจากบัลลังก์หนีไป แต่ก้อนหินเหล่านั้นก็กลายเป็นกลุ่มดอกไม้ ตกลงยังภาคพื้นดิน เทวดาทั้งหลายที่ยืนอยู่ยังขอบจักรวาล ต่างก็แลดูและคิดกันว่า อัตภาพอันถึงความเลิศด้วยพระรูปกายของสิทธัตถะจะถึงกาลสูญสิ้นแล้ว สิทธัตถกุมารจักทรงกระทำเช่นไรหนอ

         ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์ตรัสว่า บัลลังก์นี้เป็นบัลลังก์ที่ตรัสรู้ของพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย ผู้ได้บำเพ็ญบารมีมาแล้ว ดังนั้นย่อมถึงแก่เรา มาร ท่านบำเพ็ญบารมีเพื่อบัลลังก์นี้มาแต่ครั้งไร ในภาวะที่ท่านได้ให้ทาน ใครเป็นสักขีพยานของท่าน พญามารเหยียดมือออกไปตรงหน้าหมู่มารกล่าวว่า เหล่ามารมีประมาณเท่านี้เป็นสักขีพยานของเรา ขณะนั้นเสียงของพลมารได้ดังขึ้นว่าเราเป็นสักขีพยาน เราเป็นสักขีพยาน เสียงนั้นได้เป็นเสมือนเสียงแผ่นดินทรุด

         พญามารถามพระโพธิสัตว์บ้างว่า สิทธัตถะในภาวะที่ท่านให้ทานไว้แล้ว ผู้ใดเป็นสักขีพยาน พระโพธิสัตว์ตรัสว่า ในที่นี้เราไม่มีผู้ใดที่มีจิตใจจะเป็นสักขีพยานให้ได้ ทานที่เราให้แล้วในอัตภาพอื่นๆจงยกไว้ เอาเพียงในภาวะที่เราดำรงอยู่ในอัตภาพเป็นพระเวสสันดร แล้วได้ให้สัตตสดกมหาทาน (คือให้สิ่งของอย่างละร้อยรวม 7 อย่าง) มหาปฐพีอันหนาทึบนี้ แม้จะไม่มีจิตใจก็เป็นสักขีพยานแก่เราได้

         พระโพธิสัตว์ทรงเหยียดพระหัตถ์ขวา ชี้ลงตรงพื้นมหาปฐพี ตรัสว่า ในกาลที่เราดำรงอยู่ในอัตภาพของพระเวสสันดร แล้วได้บริจาคสัตสดกมหาทาน ท่านจะเป็นสักขีพยานได้หรือไม่

         ทันใดนั้น มหาปฐพีอันกว้างใหญ่ก็บันลือเสียงสนั่นหวั่นไหว ประหนึ่งจะท่วมทับพลมารว่า เราเป็นสักขีพยานให้แก่ท่าน เราเป็นสักขีพยานให้แก่ท่าน

          (ปฐมสมโพธิกถา พระนิพนธ์ในสมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส กล่าวว่า นางพระธรณีมิอาจนิ่งอยู่ได้ เมื่อถูกพระโพธิสัตว์อ้างเป็นพยาน จึงได้บันดาลเป็นรูปนารีผุดขึ้นจากพื้นดิน ยืนอยู่เฉพาะพระพักตร์ของพระโพธิสัตว์ร้องประกาศว่า ข้าแต่พระมหาบุรุษ ข้าพระองค์ทราบอยู่ซึ่งบุญที่พระองค์สั่งสมมาตั้งแต่ต้น ด้วยว่าทักษิโณทกที่พระองค์หลั่งลงเหนือพื้นปฐพีนั้น ได้ตกลงมาชุ่มอยู่ในมวยผมของข้าพระองค์มากมายประมาณมิได้ ข้าพระองค์จะได้บิดน้ำในมวยผมให้ไหลออกมาประจักษ์ ณ บัดนี้ ว่าแล้วก็บิดน้ำจากมวยผมให้ไหลออกมา น้ำนั้นมากมายไหลท่วมท้นเสนามารทั้งหลายให้ลอยไป แม้ช้างคิรีเมขล์ก็มิอาจยืนอยู่ได้ ลอยน้ำไปจนถึงมหาสมุทร ธงธวัชฉัตรชัย และจามรทั้งหลายก็หักทำลายลง)

          ขณะที่พระโพธิสัตว์กำลังพิจารณาถึงทาน ที่ถวายในอัตภาพพระเวสสันดร ช้างคิรีเมขล์ก็ทรุดตัวคู้เข่าลง พญามารที่นั่นบนคอช้างพลัดตกลงมายังพื้นดิน ขณะเดียวกันอสนีบาตก็ฟาดเปรี้ยงลงมา มหาเมฆก็ร้องครืนครั่นปานภูเขาจะถล่มทลาย มหาสาครก็ปั่นป่วนกัมปนาททั่วจักรวาลเกิดโกลาหลสะท้านสะเทือน หมู่มารทั้งหลายตื่นตระหนกตกใจต่างพากันทิ้งศัสตราวุธหนีหายไปจนหมดสิ้น

         พญามารเห็นเช่นนั้นก็ให้อัศจรรย์ใจ ด้วยความครั่นคร้ามในพระเดชานุภาพของพระโพธิสัตว์ หนีกลับไปยังปรนิมมิตวสวัตตี อันเป็นเทวสถานของตน ประนมมือนมัสการ กล่าวสรรเสริญพระโพธิสัตว์ว่า

บุคคลในโลกและเทวโลก ที่จะเสมอด้วยพระองค์ไม่มี

                   พระองค์จักได้ตรัสรูเป็นพระพุทธเจ้า

                   จักขนสัตว์ผู้ชาญฉลาดให้ข้ามพ้นวัฏฏสงสาร

                   บรรลุพระนิพพาน ในครั้งนี้แน่นอน

          (ปฐมสมโพธิกถา พระนิพนธ์ในสมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส มารวิชัยปริวัตต์ ปริจเฉท 9 หน้า 144-145 กล่าวว่า ด้วยอำนาจการกล่าวสรรเสริญคุณพระโพธิสัตว์ในครั้งนี้ พญามารจักได้บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณในกาลภายหน้า)

         พระโพธิสัตว์ทรงชนะเหล่ามารได้ในเวลาอาทิตย์อัสดงพอดี บรรดาทวยเทพทั้งหลายรวมทั้งเหล่านาคและครุฑ เห็นพญามารและพลมารหนีไปแล้ว มีใจเบิกบาน ประกาศชัยชนะของพระโพธิสัตว์ในพวกของตนว่า พระสิทธัตถะทรงได้ชัยชนะ มารปราชัยพ่ายแพ้แล้ว พวกเราจงกระทำการบูชาชัยชนะครั้งนี้เถิด ต่างถือของหอมและดอกไม้อันเป็นทิพย์ มายังโพธิบัลลังก์อันเป็นที่ประทับของพระโพธิสัตว์ กระทำการสักการบูชา กล่าวคำสรรเสริญว่า

                   สิทธัตถะเป็นมนุษย์ ยังเอาชนะเทพบุตรมารได้

                   อานุภาพเห็นปานนี้ ควรที่ทุกผู้จะน้อมเศียรลงบูชา

                   พระองค์ผู้เที่ยงที่จะเป็นพระบรมศาสดาจารย์

                   ของมวลมนุษย์ และเทวดาทั้งหลาย

          พระโพธิสัตว์ทรงเอาชนะพญามาร และเสนามาร ด้วยอำนาจบารมี 10 ประการ คือ ทานบารมี ศีลบารมี เนกขัมมบารมี ปัญญาบารมี วิริยบารมี ขันติบารมี สัจบารมี อธิษฐานบารมี เมตตาบารมี และ อุเบกขาบารมี ที่ได้ทรงบำเพ็ญมาเป็นเวลาอันยาวนานถึง 4 อสงไขยกับอีกแสนกัป (หลังจากได้รับพยากรณ์จากพระทีปังกรพุทธเจ้า) ตั้งแต่ยังไม่ได้ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระสัพพัญญูพุทธเจ้า ด้วยประการฉะนี้

เรียบเรียงจากหนังสือ พระพุทธประวัติ โดย สุรีย์ มีผลกิจ

Go to Top

กลับไปที่ภาพชุดที ๓

ชุด๓-ภาพที่-๑-พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสรู้อยู่-ณ-ควงไม้โพธิพฤกษ์-ใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา-ในอุรุเวลาประเทศ

ภาพพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสรู้อยู่ ณ ควงไม้โพธิพฤกษ์ ใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ในอุรุเวลาประเทศ

          พระโพธิสัตว์ทรงกำจัดพญามารพร้อมทั้งเหล่ามารได้แล้ว ด้วยอานุภาพของพระบารมีทั้ง ๑๐ ประการคือ ทานบารมี ศีลบารมี เนกขัมมบารมี ปัญญาบารมี วิริยบารมี ขันติบารมี สัจบารมี อธิษฐานบารมี เมตตาบารมี และอุเบกขาบารมี ประทับนั่งอยู่ ณ บัลลังก์นั้นด้วยพระทัยอันมั่นคงเด็ดเดี่ยวในสัตยาธิษฐาน เพื่อบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ จิตเป็นสมาธิตั้งมั่นไม่หวั่นไหว ใบมหาโพธิพฤกษ์ตกลงเบื้องบนจีวร ประหนึ่งกลีบแก้วประพาฬบูชาอยู่ ครั้นในเวลา

                   ปฐมยาม        ทรงระลึกบุพเพนิวาสานุสติญาณ

                   มัชฌิมยาม      ทรงชำระทิพพจักขุญาณ

                   ปัจฉิมยาม      ทรงหยั่งพระญาณลงในปฏิจจสมุปบาท

          ขณะที่พระโพธิสัตว์ทรงพิจารณาปัจจยาการ อันประกอบด้วยบท ๑๒ บท โดยอนุโลมและปฏิโลม ด้วยอำนาจวัฏฏะและวิวัฏฏะ โลกธาตุได้ไหวถึง ๑๒ ครั้ง จนจรดน้ำรองแผ่นดินเป็นที่สุด หมื่นโลกธาตุทั้งสิ้น ได้มีการตกแต่งประดับประดา แผ่นผ้าธงทั้งหลายยกขึ้นที่ขอบจักรวาล ทั่วทุกทิศตลอดพื้นดินจรดพรหมโลก พันธุ์ไม้ดอกในหมื่นจักรวาลก็ออกดอก ไม้ผลก็เต็มไปด้วยพวงผล ไม้ลำต้นก็ออกดอกที่ลำต้น กิ่งก็ออกดอกที่กิ่ง เครือเถาก็ออกดอกที่เครือเถา ที่ห้อยในอากาศก็ออกดอกในอากาศ ชนิดที่เป็นก้านก็ทำลายพื้นศิลาทึบตั้งขึ้นซ้อน ๆ กัน หมื่นโลกธาตุเกลื่อนกลาดไปด้วยดอกไม้ โลกันตร์นกกว้าง ๘ พันโยชน์ในระหว่างจักรวาลทั้งหลายไม่เคยสว่างด้วยแสงอาทิตย์ แต่ในกาลนั้นได้มีแสงสว่างแลเห็นกัน น้ำในมหาสมุทรกลายเป็นน้ำหวาน แม่น้ำทั้งหลายไม่ไหล คนตาบอดแต่กำเนิดได้แลเห็นรูป คนหูหนวกแต่กำเนิดได้ยินเสียง คนง่อยเปลี้ยแต่กำเนิดก็เดินได้ บรรดาเครื่องจองจำทั้งหลายมีขื่อคาเป็นต้น ก็ขาดหลุดไป เมื่อธรรมอันน่าอัศจรรย์ทั้งหลายปรากฏอย่างนี้แล้ว เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายบูชาด้วยสมบัติ อันประกอบด้วยสิริหาประมาณมิได้ ด้วยประการฉะนี้

          ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์ทรงยังจตุตถฌาน มีอานาปานะเป็นอารมณ์ให้เกิดแล้ว ทรงกระทำจตุตถฌานนั้นให้เป็นบาท เจริญวิปัสสนา ทรงยังกิเลสทั้งปวงให้สิ้นไปด้วยอรหัตตมรรค พระโพธิสัตว์ได้แทงตลอดพระสัพพัญญุตญาณ ในเวลารุ่งอรุณพอดี ครั้งแล้วทรงเปล่งอุทานที่พระพุทธเจ้าทั้งปวงมิได้ทรงละว่า

                   อเนกชาติสํสารํ                    สนฺธาวิสฺสํ อนิพฺพิสํ

                   คหการํ คเวสนฺโต                 ทุกฺขา ชาติ ปุนปฺปุนํ

                   คหการก ทิฎฺโฐสิ                  ปุน เคหํ น กาหสิ

                   สพฺพา เต ผาสุกา ภคฺคา          คหกูฏํ วิสงฺขตํ

                   วิสงฺขารคตํ จิตฺตํ                  ตณฺหานํ ขยมชฺฌคา.

แปลว่า

                   เราแสวงหานายช่างผู้สร้างเรือนคือตัณหา

                   เมื่อไม่พบ ได้ท่องเที่ยวไปตลอดชาติสงสารมิใช่น้อย

                   การเกิดบ่อย ๆ เป็นทุกข์

                   ดูกรนายช่างผู้สร้างเรือนคือตัณหา

                   เราพบท่านแล้ว ท่านจักสร้างเรือนแก่เราอีกมิได้แล้ว

                   โครงสร้างเรือนของท่าน เราหักเสียแล้ว

                   ยอดเรือนคืออวิชชา เราก็กำจัดเสียแล้ว

                   จิตของเราถึงวิสังขาร คือพระนิพพาน

                   อันปัจจัยปรุงแต่งไม่ได้อีกต่อไป

                   เพราะเราบรรลุธรรม เป็นที่สิ้นตัณหาแล้ว

          พระผู้มีพระภาคเจ้าแรกตรัสรู้ประทับอยู่ ณ ควงไม้โพธิพฤกษ์ ใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ในอุรุเวลาประเทศ ประทับนั่งบนโพธิบัลลังก์ เสวยวิมุตติสุข ณ ควงไม้โพธิพฤกษ์นั้นตลอด ๗ วัน ในราตรีที่ ๗ ทรงออกจากอรหัตตผลสมาบัติแล้ว ทรงมนสิการปฏิจจสมุปบาทอันเป็นอนุโลมด้วยดี ตลอดปฐมยาม ดังนี้

ปฏิจจสมุปบาท อนุโลม

                   เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย                   จึงมีสังขาร

                   เพราะสังขารเป็นปัจจัย                    จึงมีวิญญาณ

                   เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย                 จึงมีนามรูป

                   เพราะนามรูปเป็นปัจจัย                   จึงมีสฬายตนะ

                   เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย               จึงมีผัสสะ

                   เพราะผัสสะเป็นปัจจัย                     จึงมีเวทนา

                   เพราะเวทรนาเป็นปัจจัย                  จึงมีตัณหา

                   เพราะตัณหาเป็นปัจจัย                    จึงมีอุปาทาน

                   เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย                 จึงมีภพ

                   เพราะภพเป็นปัจจัย                        จึงมีชาติ

                   เพราะชาติเป็นปัจจัย   จึงมีชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส อุปายาส

                   กองทุกข์ทั้งมวลย่อมเกิด ด้วยประการฉะนี้

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบดังนั้นแล้ว ทรงเปล่งอุทาน ว่า

พุทธอุทานปฐมยาม

เมื่อใด ธรรมทั้งหลาย ปรากฏแก่พราหมณ์ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่

เมื่อนั้น ความสงสัยทั้งปวงของพราหมณ์นั้นย่อมสิ้นไป

เพราะได้รู้ธรรมพร้อมทั้งเหตุ

                        อรรถกถากล่าวว่า พุทธอุทานครั้งแรกนี้ เกิดขึ้นด้วยอำนาจของการพิจารณาปัจจยาการ หรืออีกนัยหนึ่งท่านเรียกว่าปฏิจจสมุปบาท อันเป็นธรรมที่อาศัยกันและกัน ยังธรรมที่สืบเนื่องกันให้เกิดขึ้น คือรู้ธรรมที่เกิดพร้อมทั้งเหตุ (ความโดยละเอียดพึงถือเอาจากวิสุทธิมรรค)

ต่อแต่นั้น ทรงมนสิการปฏิจจสมุปบาท อันเป็นปฏิโลมตลอดมัชฌิมยาม ดังนี้

ปฏิจจสมุปบาท ปฏิโลม

                        เพราะอวิชชาดับ                            สังขารจึงดับ

                   เพราะสังขารดับ                            วิญญาณจึงดับ

                   เพราะวิญญาณดับ                         นามรูปจึงดับ

                   เพราะนามรูปดับ                           สฬายตนะจึงดับ

                   เพราะสฬายตนะดับ                       ผัสสะจึงดับ

                   เพราะผัสสะดับ                             เวทนาจึงดับ

                   เพราะเวทนาดับ                            ตัณหาจึงดับ

                   เพราะตัณหาดับ                            อุปาทานจึงดับ

                   เพราะอุปทานดับ                           ภพจึงดับ

                   เพราะภพดับ                                ชาติจึงดับ

                   เพราะชาติดับ            ชรามรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส อุปายาสจึงดับ

                   กองทุกข์ทั้งมวลย่อมดับ ด้วยประการฉะนี้

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบดังนั้นแล้ว ทรงเปล่งอุทานว่า

พุทธอุทานมัชฌิมยาม

เมื่อใด ธรรมทั้งหลาย ปรากฏแก่พราหมณ์ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่

เมื่อนั้น ความสงสัยทั้งปวงของพราหมณ์นั้นย่อมสิ้นไป

เพราะได้รู้ความสิ้นไปแห่งปัจจัยทั้งหลาย

                   อรรถกถากล่าวว่า พุทธอุทานครั้งที่สองนี้ เกิดขึ้นด้วยอำนาจการพิจารณาพระนิพพาน เมื่อได้ทราบชัด ได้ตรัสรู้นิพพานเมื่อใด ความสงสัยทุกอย่างที่จะพึงเกิดขึ้นย่อมสิ้นไป เพราะได้รู้ถึงความสิ้นไปแห่งปัจจัยทั้งหลายนั้นคือนิพพาน

จากนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมนสิการปฏิจจสมุปบาท ทั้งอนุโลมและปฏิโลมด้วยดี ตลอดจนปัจฉิมยาม และทรงเปล่งอุทานในปัจฉิมยามว่า

พุทธอุทานปัจฉิมยาม

เมื่อใด ธรรมทั้งหลายปรากฏแก่พราหมณ์ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่

เมื่อนั้น พราหมณ์นั้นย่อมกำจัดมารและเสนามารเสียได้

ดุจพระอาทิตย์อุทัยทำท้องฟ้าให้สว่าง ฉะนั้น

                        อรรถกถากล่าวว่า พุทธอุทานครั้งที่สามนี้เกิดขึ้นด้วยอำนาจการพิจารณามรรค คือ เมื่อตรัสรู้สัจจะทั้งหลายด้วยมรรคนั้น ฉันใด ชื่อว่า กำจัดมารและเสนามารเสียได้ เหมือนพระอาทิตย์ส่องแสงให้สว่างไสว ฉันนั้น

พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงเปล่งอุทานทั้ง ๓ นั้น ในยามทั้งแห่งราตรีที่ ๗ นับแต่การตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณ ทั้งนี้เป็นการประกาศอานุภาพแห่ง

                             การรู้ชัดปัจจยาการ ในยามที่ ๑

                             การบรรลุความสิ้นไปแห่งปัจจัย ในยามที่ ๒

                             การบรรลุอริยมรรค ในยามที่ ๓

                   ในอรรถกถาพระวินัย ขันธกะ กล่าวว่า ในปฐมยามพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเปล่งอุทานด้วยอำนาจการ พิจารณาปัจจยาการ ในยามที่ ๒ ด้วยอำนาจการ พิจารณานิพพาน ในยามที่ ๓ ด้วยอำนาจการ พิจารณามรรค

เรียบเรียงจากหนังสือ พระพุทธประวัติ โดย สุรีย์ มีผลกิจ

Go to Top

กลับไปที่ภาพชุดที ๓