ภาพพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสรู้อยู่ ณ ควงไม้โพธิพฤกษ์ ใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ในอุรุเวลาประเทศ |
พระโพธิสัตว์ทรงกำจัดพญามารพร้อมทั้งเหล่ามารได้แล้ว ด้วยอานุภาพของพระบารมีทั้ง ๑๐ ประการคือ ทานบารมี ศีลบารมี เนกขัมมบารมี ปัญญาบารมี วิริยบารมี ขันติบารมี สัจบารมี อธิษฐานบารมี เมตตาบารมี และอุเบกขาบารมี ประทับนั่งอยู่ ณ บัลลังก์นั้นด้วยพระทัยอันมั่นคงเด็ดเดี่ยวในสัตยาธิษฐาน เพื่อบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ จิตเป็นสมาธิตั้งมั่นไม่หวั่นไหว ใบมหาโพธิพฤกษ์ตกลงเบื้องบนจีวร ประหนึ่งกลีบแก้วประพาฬบูชาอยู่ ครั้นในเวลา
ปฐมยาม ทรงระลึกบุพเพนิวาสานุสติญาณ
มัชฌิมยาม ทรงชำระทิพพจักขุญาณ
ปัจฉิมยาม ทรงหยั่งพระญาณลงในปฏิจจสมุปบาท
ขณะที่พระโพธิสัตว์ทรงพิจารณาปัจจยาการ อันประกอบด้วยบท ๑๒ บท โดยอนุโลมและปฏิโลม ด้วยอำนาจวัฏฏะและวิวัฏฏะ โลกธาตุได้ไหวถึง ๑๒ ครั้ง จนจรดน้ำรองแผ่นดินเป็นที่สุด หมื่นโลกธาตุทั้งสิ้น ได้มีการตกแต่งประดับประดา แผ่นผ้าธงทั้งหลายยกขึ้นที่ขอบจักรวาล ทั่วทุกทิศตลอดพื้นดินจรดพรหมโลก พันธุ์ไม้ดอกในหมื่นจักรวาลก็ออกดอก ไม้ผลก็เต็มไปด้วยพวงผล ไม้ลำต้นก็ออกดอกที่ลำต้น กิ่งก็ออกดอกที่กิ่ง เครือเถาก็ออกดอกที่เครือเถา ที่ห้อยในอากาศก็ออกดอกในอากาศ ชนิดที่เป็นก้านก็ทำลายพื้นศิลาทึบตั้งขึ้นซ้อน ๆ กัน หมื่นโลกธาตุเกลื่อนกลาดไปด้วยดอกไม้ โลกันตร์นกกว้าง ๘ พันโยชน์ในระหว่างจักรวาลทั้งหลายไม่เคยสว่างด้วยแสงอาทิตย์ แต่ในกาลนั้นได้มีแสงสว่างแลเห็นกัน น้ำในมหาสมุทรกลายเป็นน้ำหวาน แม่น้ำทั้งหลายไม่ไหล คนตาบอดแต่กำเนิดได้แลเห็นรูป คนหูหนวกแต่กำเนิดได้ยินเสียง คนง่อยเปลี้ยแต่กำเนิดก็เดินได้ บรรดาเครื่องจองจำทั้งหลายมีขื่อคาเป็นต้น ก็ขาดหลุดไป เมื่อธรรมอันน่าอัศจรรย์ทั้งหลายปรากฏอย่างนี้แล้ว เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายบูชาด้วยสมบัติ อันประกอบด้วยสิริหาประมาณมิได้ ด้วยประการฉะนี้
ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์ทรงยังจตุตถฌาน มีอานาปานะเป็นอารมณ์ให้เกิดแล้ว ทรงกระทำจตุตถฌานนั้นให้เป็นบาท เจริญวิปัสสนา ทรงยังกิเลสทั้งปวงให้สิ้นไปด้วยอรหัตตมรรค พระโพธิสัตว์ได้แทงตลอดพระสัพพัญญุตญาณ ในเวลารุ่งอรุณพอดี ครั้งแล้วทรงเปล่งอุทานที่พระพุทธเจ้าทั้งปวงมิได้ทรงละว่า
อเนกชาติสํสารํ สนฺธาวิสฺสํ อนิพฺพิสํ
คหการํ คเวสนฺโต ทุกฺขา ชาติ ปุนปฺปุนํ
คหการก ทิฎฺโฐสิ ปุน เคหํ น กาหสิ
สพฺพา เต ผาสุกา ภคฺคา คหกูฏํ วิสงฺขตํ
วิสงฺขารคตํ จิตฺตํ ตณฺหานํ ขยมชฺฌคา.
แปลว่า
เราแสวงหานายช่างผู้สร้างเรือนคือตัณหา
เมื่อไม่พบ ได้ท่องเที่ยวไปตลอดชาติสงสารมิใช่น้อย
การเกิดบ่อย ๆ เป็นทุกข์
ดูกรนายช่างผู้สร้างเรือนคือตัณหา
เราพบท่านแล้ว ท่านจักสร้างเรือนแก่เราอีกมิได้แล้ว
โครงสร้างเรือนของท่าน เราหักเสียแล้ว
ยอดเรือนคืออวิชชา เราก็กำจัดเสียแล้ว
จิตของเราถึงวิสังขาร คือพระนิพพาน
อันปัจจัยปรุงแต่งไม่ได้อีกต่อไป
เพราะเราบรรลุธรรม เป็นที่สิ้นตัณหาแล้ว
พระผู้มีพระภาคเจ้าแรกตรัสรู้ประทับอยู่ ณ ควงไม้โพธิพฤกษ์ ใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ในอุรุเวลาประเทศ ประทับนั่งบนโพธิบัลลังก์ เสวยวิมุตติสุข ณ ควงไม้โพธิพฤกษ์นั้นตลอด ๗ วัน ในราตรีที่ ๗ ทรงออกจากอรหัตตผลสมาบัติแล้ว ทรงมนสิการปฏิจจสมุปบาทอันเป็นอนุโลมด้วยดี ตลอดปฐมยาม ดังนี้
ปฏิจจสมุปบาท อนุโลม
เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขาร
เพราะสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ
เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย จึงมีนามรูป
เพราะนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีสฬายตนะ
เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ
เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา
เพราะเวทรนาเป็นปัจจัย จึงมีตัณหา
เพราะตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน
เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ
เพราะภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ
เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส อุปายาส
กองทุกข์ทั้งมวลย่อมเกิด ด้วยประการฉะนี้
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบดังนั้นแล้ว ทรงเปล่งอุทาน ว่า
พุทธอุทานปฐมยาม
เมื่อใด ธรรมทั้งหลาย ปรากฏแก่พราหมณ์ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่
เมื่อนั้น ความสงสัยทั้งปวงของพราหมณ์นั้นย่อมสิ้นไป
เพราะได้รู้ธรรมพร้อมทั้งเหตุ
อรรถกถากล่าวว่า พุทธอุทานครั้งแรกนี้ เกิดขึ้นด้วยอำนาจของการพิจารณาปัจจยาการ หรืออีกนัยหนึ่งท่านเรียกว่าปฏิจจสมุปบาท อันเป็นธรรมที่อาศัยกันและกัน ยังธรรมที่สืบเนื่องกันให้เกิดขึ้น คือรู้ธรรมที่เกิดพร้อมทั้งเหตุ (ความโดยละเอียดพึงถือเอาจากวิสุทธิมรรค)
ต่อแต่นั้น ทรงมนสิการปฏิจจสมุปบาท อันเป็นปฏิโลมตลอดมัชฌิมยาม ดังนี้
ปฏิจจสมุปบาท ปฏิโลม
เพราะอวิชชาดับ สังขารจึงดับ
เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ
เพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับ
เพราะนามรูปดับ สฬายตนะจึงดับ
เพราะสฬายตนะดับ ผัสสะจึงดับ
เพราะผัสสะดับ เวทนาจึงดับ
เพราะเวทนาดับ ตัณหาจึงดับ
เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ
เพราะอุปทานดับ ภพจึงดับ
เพราะภพดับ ชาติจึงดับ
เพราะชาติดับ ชรามรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส อุปายาสจึงดับ
กองทุกข์ทั้งมวลย่อมดับ ด้วยประการฉะนี้
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบดังนั้นแล้ว ทรงเปล่งอุทานว่า
พุทธอุทานมัชฌิมยาม
เมื่อใด ธรรมทั้งหลาย ปรากฏแก่พราหมณ์ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่
เมื่อนั้น ความสงสัยทั้งปวงของพราหมณ์นั้นย่อมสิ้นไป
เพราะได้รู้ความสิ้นไปแห่งปัจจัยทั้งหลาย
อรรถกถากล่าวว่า พุทธอุทานครั้งที่สองนี้ เกิดขึ้นด้วยอำนาจการพิจารณาพระนิพพาน เมื่อได้ทราบชัด ได้ตรัสรู้นิพพานเมื่อใด ความสงสัยทุกอย่างที่จะพึงเกิดขึ้นย่อมสิ้นไป เพราะได้รู้ถึงความสิ้นไปแห่งปัจจัยทั้งหลายนั้นคือนิพพาน
จากนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมนสิการปฏิจจสมุปบาท ทั้งอนุโลมและปฏิโลมด้วยดี ตลอดจนปัจฉิมยาม และทรงเปล่งอุทานในปัจฉิมยามว่า
พุทธอุทานปัจฉิมยาม
เมื่อใด ธรรมทั้งหลายปรากฏแก่พราหมณ์ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่
เมื่อนั้น พราหมณ์นั้นย่อมกำจัดมารและเสนามารเสียได้
ดุจพระอาทิตย์อุทัยทำท้องฟ้าให้สว่าง ฉะนั้น
อรรถกถากล่าวว่า พุทธอุทานครั้งที่สามนี้เกิดขึ้นด้วยอำนาจการพิจารณามรรค คือ เมื่อตรัสรู้สัจจะทั้งหลายด้วยมรรคนั้น ฉันใด ชื่อว่า กำจัดมารและเสนามารเสียได้ เหมือนพระอาทิตย์ส่องแสงให้สว่างไสว ฉันนั้น
พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงเปล่งอุทานทั้ง ๓ นั้น ในยามทั้งแห่งราตรีที่ ๗ นับแต่การตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณ ทั้งนี้เป็นการประกาศอานุภาพแห่ง
การรู้ชัดปัจจยาการ ในยามที่ ๑
การบรรลุความสิ้นไปแห่งปัจจัย ในยามที่ ๒
การบรรลุอริยมรรค ในยามที่ ๓
ในอรรถกถาพระวินัย ขันธกะ กล่าวว่า ในปฐมยามพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเปล่งอุทานด้วยอำนาจการ พิจารณาปัจจยาการ ในยามที่ ๒ ด้วยอำนาจการ พิจารณานิพพาน ในยามที่ ๓ ด้วยอำนาจการ พิจารณามรรค
เรียบเรียงจากหนังสือ พระพุทธประวัติ โดย สุรีย์ มีผลกิจ
Go to Top