Blog Archives


ชุด๔ ภาพที่ ๖ มกุฎพันธนเจดีย์ ที่ประดิษฐานสถูปบรรจุพระสรีระของพระคถาคต
 ภาพมกุฎพันธนเจดีย์ ที่ประดิษฐานสถูปบรรจุพระสรีระของพระคถาคต ถูกสร้างไว้ในหนทางใหญ่สี่แพร่ง

         สมัยนั้น ปาโมกข์ ๔ องค์ ดำริว่าเราจักยังไฟให้ติดจิตกาธานของพระผู้มีพระภาคเจ้า แต่ไม่ว่าจะกระทำโดยประการใด ก็มิอาจยังไฟให้ติดได้ พวกเจ้ามัลละกุสินาราเห็นเหตุการณ์นั้นจึงถามท่านพระอนุรุทธะว่า อะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นปัจจัย ที่ปาโมกข์ทั้ง ๔ มิอาจยังไฟให้ติดจิตกาธานได้

         พระอนุรุทธะกล่าวว่า พวกเทวดามีความประสงค์อย่างหนึ่ง

         มัลลปาโมกข์ถามว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ พวกเทวดามีความประสงค์อย่างไร

         พระอนุรุทธะตอบว่า ขณะนี้ ท่านพระมหากัสสปะพร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์ประมาณ ๕๐๐ รูป กำลังเดินทางจากเมืองปาวามาสู่กรุงกุสินารา ตราบใด ที่ท่านพระมหากัสสปะและภิกษุสงฆ์เหล่านั้นยังเดินทางมาไม่ถึง และจนกว่าท่านพระมหากัสสปะและภิกษุสงฆ์นั้นจะได้ถวายบังคมพระบาททั้งสองของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ตราบนั้น จิตกาธานของพระผู้มีพระภาคเจ้าจักยังไม่ลุกโพลงขึ้น มัลลปาโมกข์กล่าวว่า ขอให้เป็นไปตามความประสงค์ของพวกเทวดาเถิด

ถวายพระเพลิง

         เมื่อพระมหากัสสปะเดินทางมาถึงมกุฏพันธนเจดีย์ เข้าไปยังจิตกาธานของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว กระทำจีวรเฉวียงบ่าประนมอัญชลี กระทำประทักษิณจิตกาธาน ๓ รอบ ถวายบังคมทางด้านพระบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วพระเถระก็ยืนอยู่ ณ ที่นั้น เข้าจตุตตถฌานอันเป็นบาทแห่งอภิญญา ออกจากฌานแล้วอธิษฐานว่า ขอพระยุคลบาทของพระทศพลจงชำแรกออกมาให้เห็นประจักษ์ด้วยเถิด

         พร้อมด้วยจิตอธิษฐาน พระยุคลบาทก็ชำแรกออกมา พระเถระเหยียดมือทั้งสองไปจับพระยุคลบาทของพระบรมศาสดา ยกขึ้นมาประดิษฐานไว้เหนือเศียรเกล้าของตน ภิกษุ ๕๐๐ รูปเหล่านั้น ก็ถวายบังคมด้วยเศียรเกล้า มหาชนเห็นความอัศจรรย์ดังนั้น พากันร้องไห้คร่ำครวญยิ่งกว่าครั้งปรินิพพาน แล้วบูชาด้วยของหอมและดอกไม้เป็นต้น

         เมื่อท่านพระมหากัสสปะและภิกษุ ๕๐๐ รูปเหล่านั้น ถวายบังคมแล้ว จิตกาธานของพระผู้มีพระภาคเจ้าก็โพลงขึ้นเอง เปลวไฟได้ลุกขึ้นพร้อม ๆ กันทุกด้าน ด้วยอานุภาพของเทวดา

         บรรดาผ้า ๕๐๐ ผืนเหล่านั้น เพลิงมิได้ไหม้ผ้าเพียง ๒ ผืน คือผืนในที่สุดกับผืนนอกขณะที่ไฟกำลังไหม้จิตกาธาน เปลวไฟพุ่งขึ้นระหว่างกิ่ง ค่าคบ และใบของต้นสาละที่ยืนต้นล้อมจิตกาธานอยู่ ใบ กิ่ง หรือดอกมิได้ไหม้เลย

          เมื่อพระสรีระของพระผู้มีพระภาคเจ้าถูกเพลิงไหม้แล้ว สายธารก็ไหลหลั่งตกลงมาจากอากาศ พลุ่งออกจากลำต้นของต้นสาละเหล่านั้น และพลุ่งชำแรกพื้นดินขึ้นมาโดยรอบเพื่อดับจิตกาธานของพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นดับจิตกาธานแล้ว สิ่งที่ยังเหลืออยู่คือพระบรมสารีริกธาตุ อันมีสีดุจดอกมะลิ แก้วมุกดา และทองคำ

เรียบเรียงจากหนังสือ พระพุทธประวัติ โดย สุรีย์ มีผลกิจ

Go to Top

กลับไปที่ภาพชุดที่ ๔

ชุด๔ ภาพที่ ๕ มัลลปาโมกข์ 8 องค์ ไม่อาจยกพระสรีระของพระบรมศาสดาขึ้นได้
 ภาพมัลลปาโมกข์ ๘ องค์ ไม่อาจยกพระสรีระของพระบรมศาสดาขึ้นได้ เหตุเพราะเทวดาว่าจักอัญเชิญพระสรีระของพระผู้มีพระภาคเจ้าไปทางทิศเหนือ ท่ามกลางพระนคร

          สมัยนั้น มัลลปาโมกข์ ๘ สระสรงกล้าแล้วทรงนุ่งผ้าใหม่ ดำริว่าเราจักยกพระสรีระพระผู้มีพระภาคเจ้า ก็ไม่อาจยกขึ้นได้ พวกเจ้ามัลละกุสินาราได้ถามท่านพระอนุรุทธะว่า อะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นปัจจัย มัลลปาโมกข์ ๘ องค์นี้ จึงไม่อาจยกพระสรีระของพระบรมศาสดาขึ้นได้ พระอนุรุทธะกล่าวว่า พวกท่านมีความประสงค์อย่างหนึ่ง แต่พวกเทวดามีความประสงค์อีกอย่างหนึ่ง เจ้ามัลละถามว่า พวกเทวดามีความประสงค์เช่นไร

         พระอนุรุทธะกล่าวว่า พวกท่านมีความประสงค์จักเชิญพระสรีระของพระผู้มีพระภาคเจ้า ไปถวายพระเพลิงทางทิศใต้ของพระนคร แต่เทวดามีความประสงค์ว่าจักเชิญไปทางทิศเหนือ เข้าสู่พระนครโดยทวารทิศเหนือ เชิญไปท่ามกลางพระนคร ออกโดยทวารทิศตะวันออก แล้วถวายพระเพลิงพระสรีระของพระบรมศาสดา ที่มกุฏพันธนเจดีย์ของพวกเจ้ามัลละทางทิศตะวันออกของพระนคร เจ้ามัลละกล่าวว่า ขอให้เป็นไปตามความประสงค์ของพวกเทวดาเถิด

         สมัยนั้น กรุงกุสินาราดารดาษไปด้วยดอกมณฑารพ พวกเทวดาและพวกเจ้ามัลละกุสินารากระทำการสักการะบูชาพระสรีระของพระบรมศาสดาด้วยการฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรี และดอกไม้ ของหอม ทั้งที่เป็นทิพย์ ทั้งที่เป็นของมนุษย์ เตรียมการอัญเชิญพระสรีระของพระพุทธองค์ไปถวายพระเพลิงยังมกุฏพันธนเจดีย์ ตามความประสงค์ของเหล่าเทวดา

         นางมัลลิกา ภรรยาของพันธุลเสนาบดีทราบว่า เหล่ามัลลปาโมกข์ กำลังจะอัญเชิญพระสรีระของพระผู้มีพระภาคเจ้าผ่านมาทางเรือนของนาง จึงดำริว่า เราจักบูชาพระพุทธองค์ด้วยเครื่องประดับ มหาลดาปสาธน์ คิดดังนี้แล้ว นางสั่งให้บริวารทำความสะอาดมหาลดาประสาธน์ให้ชำระด้วยน้ำหอม แล้ววางเตรียมไว้หน้าประตูเรือน

         เมื่อปาโมกข์อัญเชิญพระสรีระของพระบรมศาสดาผ่านมาถึงประตูเรือน นางมัลลิกากล่าวว่าขอท่านจงวางพระสรีระของพระองค์ลงก่อน เราประสงค์จะบูชาพระบรมศาสดาด้วยเครื่องประดับนี้ นางมัลลิกาวางมหาลดาปสาธน์นั้น ทาบลงบนพระสรีระของพระพุทธองค์ตั้งแต่พระเศียรจนถึงพระบาท พระสรีระพระพุทธองค์ซึ่งมีพระฉวีดุจทอง เมื่อประดับด้วยมหาลดาปสาธน์แล้วรุ่งเรืองยิ่งนัก นางมัลลิกาเห็นดังนั้นแล้วมีจิตผ่องใส ตั้งความปรารถนาว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ตราบใดที่ข้าพระองค์ยังเวียนว่ายอยู่ในวัฏสงสาร ตราบนั้น สรีระของข้าพระองค์จงเป็นเสมือนหนึ่งสวมใส่เครื่องประดับนี้อยู่เป็นนิตย์เถิด

         มัลลปาโมกย์ยกสรีระพระผู้มีพระภาคเจ้า พร้อมด้วยเครื่องประดับมหาลดาปสาธน์ออกทางประตูทิศตะวันออก วางพระสรีระของพระผู้มีพระภาคเจ้าลง ณ มกุฏพันธนเจดีย์ ทางเบื้องทิศตะวันออกของพระนคร

         พวกเจ้ามัลละได้ถามพระอานนท์ว่า พวกข้าพเจ้าจะพึงปฏิบัติต่อพระสรีระของพระตถาคตเช่นไร พระอานนท์กล่าวว่า พวกท่านพึงปฏิบัติต่อพระสรีระของพระตถาคต เหมือนอย่างที่ปฏิบัติต่อสรีระของพระเจ้าจักรพรรดิ ฉะนั้น พวกเจ้ามัลละถามว่า ก็เขาปฏิบัติต่อสรีระของพระเจ้าจักรพรรดิเช่นไร

         พระอานนท์ตอบว่า เขาห่อพระสรีระของพระเจ้าจักรพรรดิด้วยผ้าใหม่ ซับด้วยสำลีแล้วห่อด้วยผ้าใหม่ โดยอุบายนี้ห่อสรีระของพระเจ้าจักรพรรดิด้วยผ้า ๕๐๐ ผืน เชิญพระสรีระลงในรางทองอันเต็มด้วยน้ำมันหอม ครอบด้วยรางทองอื่น แล้วสร้างจิตกาธานด้วยไม้หอมทุกชนิดถวายเพลิงสรีระของพระเจ้าจักรพรรดิ สร้างสถูปของพระเจ้าจักรพรรดิไว้ที่ทางใหญ่ ๔ แพร่ง เขาปฏิบัติในสรีระของพระเจ้าจักรพรรดิ ด้วยประการ ฉะนี้

         พวกท่านพึงปฏิบัติในพระสรีระของพระตถาคต เหมือนที่ปฏิบัติต่อสรีระของพระเจ้าจักรพรรดิเช่นกันพึงสร้างสถูปพระตถาคตไว้ในหนทางใหญ่ ๔ แพร่ง ชนเหล่าใดจักบูชาด้วยดอกไม้ของหอม จักทำการอภิวาท หรือจักยังจิตให้เลื่อมใสในพระสถูปนั้น ข้อนั้นจักเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่ชนเหล่านั้นตลอดกาลนาน

         พวกเจ้ามัลละกษัตริย์จึงรับสั่งกับพวกราชบุรุษว่า ถ้าอย่างนั้น พวกท่านจงเตรียมสำลีและผ้าไว้ให้พร้อมเถิด พวกเจ้ามัลละได้ห่อพระสรีระพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยผ้าใหม่ ซับด้วยสำลี แล้วห่อด้วยผ้าใหม่ โดยอุบายนี้ห่อพระสรีระของพรผู้มีพระภาคเจ้าด้วยผ้า  ๕๐๐ ผืน แล้วเชิญลงในรางทอง อันเต็มด้วยน้ำมันหอม ครอบด้วยรางทองอื่น สร้างจิตกาธานด้วยไม้หอมทุกชนิด แล้วจึงอัญเชิญพระสรีระของพระผู้มีพระภาคเจ้าขึ้นสู่จิตกาธาน

        เวลานั้น พระมหากัสสปะ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป เดินทางจากเมืองปาวามาสู่กรุงกุสินารา พระมหากัสสปะแวะออกจากทาง แล้วนั่งพักที่โคนไม้ต้นหนึ่ง

        ขณะนั้น อาชีวกคนหนึ่งถือดอกมณฑารพจากเมืองกุสินารา เดินทางไปเมืองปาวา พระมหากัสสปะเห็นอาชีวก จึงถามว่า อาวุโส ท่านได้ทราบข่าวพระบรมศาสดาของเราบ้างหรือไม่

        อาชีวกตอบว่า พระสมณโคดมปรินิพพานได้ ๗ วันเข้าวันนี้ ที่สาลวโนทยาน เมืองกุสินารา ดอกมณฑารพนี้ เราถือมาจากที่นั้น

        อรรถกถา มหาปรินิพพานสูตร หน้า ๔๔๘ กล่าวว่า อาชีวกเอกไม้เสียบดอกมณฑารพขนาดถาดใหญ่ถือมาดังร่ม พระมหากัสสปเถระเห็นแล้วคิดว่า ธรรมดาดอกมณฑารพจะปรากฏในโลกมนุษย์ ต่อเมื่อพระโพธิสัตว์เสด็จลงสู่ครรภ์ของพระมารดา หรือในวันประสูติ เป็นต้น แต่ในวันนี้มิใช่วันเสด็จลงสู่พระครรภ์ วันประสูติ วันตรัสรู้ วันประกาศธรรมจักร วันแสดงยมกปาฏิหาริย์วันเสด็จลงจากเทวโลก และมิใช่วันทรงปลงอายุสังขาร แต่พระบรมศาสดาทรงพระชรา คงจักเสด็จปรินิพพานเสียแล้ว

        เมื่อทราบข่าวว่าพระพุทธองค์ปรินิพพาน ภิกษุที่ยังไม่ปราศจากราคะ ต่างก็รำพันว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าปรินิพพานเร็วนัก พระองค์ผู้มีพระจักษุในโลกอันตรธานเร็วนัก ส่วนภิกษุเหล่าใดปราศจากราคะแล้ว มีสติสัมปชัญญะพิจารณาอยู่ว่า สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงย่อมมีการเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา

        บรรพชิตผู้บวชเมื่อแก่ชื่อ สุภัททะ นั่งอยู่ในบริษัทนั้นได้กล่าวแก่พวกภิกษุว่า พวกท่านอย่าเศร้าโศก อย่าร่ำไรไปเลย เราพ้นห่วงแล้ว ด้วยว่าพระมหาสมณะนั้นเบียดเบียนพวกเราอยู่ว่า สิ่งนี้ควร สิ่งนี้ไม่ควร บัดนี้ พวกเราปรารถนาสิ่งใด ก็จักกระทำสิ่งนั้น ไม่ปรารถนาสิ่งใดก็จักไม่กระทำสิ่งนั้น

        พระมหากัสสปะเตือนภิกษุทั้งหลายว่า พวกท่านอย่าเศร้าโศก อย่าร่ำไรไปเลย พระบรมศาสดาได้ตรัสสอนไว้แล้วไม่ใช่หรือว่า ความพลัดพรากจากสิ่งและบุคคลเป็นที่รักที่ชอบทั้งหมดต้องมี สิ่งใดอันปัจจัยปรุงแต่งแล้ว เกิดแล้ว มีแล้ว ย่อมมีความแตกทำลายไปเป็นธรรมดา ความปรารถนาว่าขอสิ่งนี้อย่าทำลายไปเลยดังนี้ ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้

เรียบเรียงจากหนังสือ พระพุทธประวัติ โดย สุรีย์ มีผลกิจ

Go to Top

กลับไปที่ภาพชุดที่ ๔

ชุด๔ ภาพที่ ๔ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปริพนิพพาน-ณ-เมืองกุสินรา
 ภาพพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปรินิพพาน ณ เมืองกุสินรา

             ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสสั่งพระอานนท์ว่า เมื่อเราปรินิพพานไปแล้ว พวกเธออย่าคิดว่าพระบรมศาสดาของพวกเราไม่มี ข้อนี้พวกเธอไม่พึงเห็นอย่างนั้น ธรรมก็ดี วินัยก็ดี อันตถาคตได้แสดงแล้ว ได้บัญญัติไว้แล้วแก่พวกเธอ ธรรมและวินัย ๘๔๐๐๐ พระธรรมขันธ์นั้น จักเป็นศาสดาของพวกเธอ โดยกาลล่วงไปแห่งเรา

            อานนท์ บัดนี้ภิกษุเรียกกันและกันด้วยวาทะว่า อาวุโส โดยล่วงไปแห่งเราไม่ควรเรียกกันเช่นนั้น ภิกษุผู้แก่กว่าพึงเรียกภิกษุผู้อ่อนกว่า โดยชื่อ โดยโคตร หรือโดยวาทะว่า อาวุโส ภิกษุผู้อ่อนกว่าพึงเรียกภิกษุผู้แก่กว่าว่า ภันเต (ผู้เจริญ) หรือ อายัสมา (ผู้มีอายุ)

            พระพุทธองค์ตรัสต่อไปอีกว่า อานนท์ โดยกาลล่วงไปแห่งเรา หากสงฆ์ปรารถนา จะถอนสิกขาบทเล็กน้อยเสียบ้าง ก็จงถอนเถิด

            อานนท์ โดยการล่วงไปแห่งเรา สงฆ์พึงลงพรหมทัณฑ์ แก่ฉันนภิกษุ พระอานนท์ทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พรหมทัณฑ์เป็นไฉน พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ปล่อยฉันนภิกษุให้พูดได้ตามที่ตนปรารถนา ภิกษุทั้งหลายไม่พึงว่ากล่าว ไม่พึงตักเตือน ไม่พึงสั่งสอน

            ในที่สุด พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า ภิกษุรูปใดมีความเคลือบแคลงสงสัยในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ พวกเธอจงถามเถิด อย่าให้มีความร้อนใจในภายหลังได้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าอยู่เฉพาะหน้าเราแล้ว ก็ยังมิกล้าทูลถามพระองค์ แม้พระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ถึง ๓ ครั้ง ภิกษุเหล่านั้นก็ยังพากันนิ่งอยู่

            พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งอีกว่า ภิกษุทั้งหลายบางทีพวกเธออาจจะไม่กล้าถามเพราะความยำเกรงในคถาคต ถ้าเช่นนั้น เธอจงบอกแก่ภิกษุผู้สหายให้ถามแทนเถิด แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้แล้ว พวกภิกษุเหล่านั้นก็ยังพากันนิ่งอยู่เช่นเดิม

            พระอานนท์กราบทูลว่า น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมา ข้าพระองค์เลื่อมใสในพระภิกษุเหล่านี้ ว่าไม่มีสักรูปหนึ่งที่จะสงสัยในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ หรือในข้อปฏิบัติใดๆ

            พระพุทธองค์ตรัสว่า อานนท์ ความเคลือบแคลงสงสัยในพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ในมรรคผล หรือในปฏิปทาข้อปฏิบัติ จะไม่มีแก่ภิกษุแม้รูปเดียวในที่นี้ เพราะในบรรดาภิกษุสงฆ์เหล่านี้ รูปที่มีคุณธรรมต่ำสุดก็เป็นพระโสดาบัน มีอันไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยง มีทางที่จะตรัสรู้ในภายหน้าแน่นอน

ต่อจากนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเตือนบรรดาภิกษุทั้งหลายว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราขอเตือนพวกเธอว่า

สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา

เธอทั้งหลาย จงทำความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด

นี้เป็นว่าจาในครั้งสุดท้ายของตถาคต

            พระบรมศาสดาตรัสดังนี้แล้ว ก็มิได้ตรัสอีกต่อไป พระวาจานี้จึงเป็นปัจฉิมวาจาของพระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นี้ พระโอวาททั้งหมดที่ทรงประทานไว้แก่สัตว์โลกทั้งหลายตลอดเวลา ๔๕ พรรษา รวมลงในความไม่ประมาท ด้วยประการฉะนี้

            หลังจากพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงออกจากจตุตถฌานแล้ว เสด็จปรินิพพาน ในลำดับแห่งการพิจารณาองค์จตุตถฌานนั้น พร้อมกับการปรินิพพานของพระผู้มีพระภาคเจ้า ได้เกิดแผ่นดินใหญ่ไหว ทั้งกลองทิพย์ก็บันลือขึ้น

            เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าปรินิพพานแล้ว บรรดาภิกษุที่ยังไม่สิ้นราคะ รำพันว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าปรินิพพานเร็วนัก พระสุคตอันตรธานเร็วนัก ส่วนพระภิกษุที่ปราศจากราคะแล้วมีสติสัมปชัญญะพิจารณาอยู่ว่า สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ เกิดขึ้นแล้วย่อมมีการเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา ไม่มีเว้นแม้แต่พระบรมศาสดา

            พระอนุรุทธะเตือเหล่าภิกษุว่า อาวุโส พวกท่านอย่าเศร้าโศกร่ำไรไปเลย เรื่องนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสบอกไว้ก่อนแล้วไม่ใช่หรือว่า ความพลัดพรากจากสิ่งและบุคคลอันเป็นที่รักที่ชอบใจทั้งสิ้นต้องมี สิ่งใดมีปัจจัยปรุงแต่งเกิดขึ้นแล้ว ต้องมีความแตกทำลายเป็นธรรมดา ความปรารถนาว่าขอสิ่งนั้นอย่าทำลายไปเลย ดังนี้ ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้

            พระอนุรุทธะและพระอานนท์ ยังราตรีที่เหลือนั้นให้ล่วงไปด้วยธรรมกถาที่เกี่ยวกับมรณัสสติว่า พระยามัจจุราชนี้ ไม่ละเว้นแม้พระบรมศาสดาผู้ประเสริฐสุดในโลก จนกระทั่งรุ่งเช้า พระอนุรุทธะจึงสั่งพระอานนท์ ให้ไปแจ้งข่าวการเสด็จปรินิพพานของพระบรมศาสดาแก่มัลลกษัตริย์กุสินารา พระอานนท์จึงเข้าไปในกรุงกุสินารา

เรียบเรียงจากหนังสือ พระพุทธประวัติ โดย สุรีย์ มีผลกิจ

Go to Top

กลับไปที่ภาพชุดที่ ๔

ชุด๔ ภาพที่ ๓
ภาพพระเจ้าพิมพิสารตามเสด็จไปส่งพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จออกจากกรุงราชคฤห์ไปกรุงเวสาลีจนถึงแม่น้ำคงคา และยังเสด็จตามลงไปจนถึงบริเวณน้ำลึกถึงพระศอ

          หลังจากตรัสรู้แล้ว พระพุทธะองค์พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จจาริกไปสู่กรุงราชคฤห์ เพื่อเปลื้องปฏิญญาที่ให้ไว้แก่พระเจ้าพิมพิสาร ประทับอยู่ที่สุปติตถะเจดีย์ ในสวนตาลเขตกรุงราชคฤห์ พระเจ้าพิมพิสารทราบข่าว จึงออกไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมด้วยพราหมณ์คหบดีชาวมคธ ๑๒ นหุต พระพุทธองค์ทรงแสดงพระธรรมเทศนาที่พระองค์ตรัสรู้แล้ว พระเจ้าพิมพิสารพร้อมด้วยพราหมณ์คหบดีชาวมคธ ๑๑ นหุตบรรลุโสดาบัน ส่วนพราหมณ์คหบดีอีก ๑ นหุตขอแสดงตนเป็นอุบาสก พระเจ้าพิมพิสาร ถวายสวนเวฬุวัน ให้เป็นที่ประทับของพระผู้มีพระภาคเจ้าและภิกษุสงฆ์ นับเป็นอารามแห่งแรกในพระพุทธศาสนา

          นับจากการถวายอุทยานเวฬุวันเป็นต้นมา จนกระทั่งพระเจ้าพิมพิสารเสด็จสวรรคตเป็นเวลานานถึง ๓๗ ปี พระเจ้าพิมพิสารทรงกระทำทุกประการ เพื่อส่งเสริมพระพุทธศาสนาให้กว้างขวางออกไป โดยเฉพาะเริ่มปฏิบัติพระองค์เองด้วยการสมาทานอุโบสถศีลเดือนละ ๖ วันเป็นประจำ เพื่อเป็นตัวอย่างแก่ปวงชนในแคว้นมคธจะได้ปฏิบัติตาม

          พระเจ้าพิมพิสาร ทรงมีความเคารพรักในพระพุทธเจ้าเป็นอย่างยิ่ง ครั้งหนึ่งเมื่อเหล่ากษัตริย์ลิจฉวีให้เจ้ามหาลิเป็นทูต มาขอให้พระองค์กราบทูลพระพุทธเจ้า เพื่อเสด็จไปโปรดชาวกรุงเวสาลี พระเจ้าพิมพิสารมีพระดำรัสให้เจ้าพนักงานแผ้วถางทาง ที่พระพุทธเจ้าจะเสด็จดำเนินจากกรุงราชคฤห์ไปยังฝั่งแม่น้ำคงคา เป็นระยะทางถึง ๕ โยชน์ (ประมาณ ๘๐ กิโลเมตร) จัดสถานที่พักระหว่างทางทุกระยะ ๑ โยชน์ พร้อมทั้งโปรยข้าวตอกดอกไม้ตลอดระยะทาง ใช้เวลาในการเดินทาง ๕ วัน พระเจ้าพิมพิสารตามเสด็จไปส่งพระพุทธเจ้าจนถึงแม่น้ำคงคา และยังเสด็จตามลงไปจนกระทั่งถึงบริเวณน้ำลึกถึงพระศอ จึงเสด็จกลับขึ้นฝั่ง รับสั่งให้ตั้งพลับพลาที่ประทับ ณ ที่นั้น รอเวลาที่พระพุทธเจ้าเสด็จกลับ

เรียบเรียงจากหนังสือ พระพุทธประวัติ โดย สุรีย์ มีผลกิจ

Go to Top

กลับไปที่ภาพชุดที่ ๔

ชุด๔ ภาพที่ ๒ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงยมกปฏิหาริย์ ณ กรุงสาวัตถี
ชุด ๔ ภาพที่ ๒ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงยมกปฏิหาริย์ ณ กรุงสาวัตถี

 พระปิณโฑลภารทวาชเถระแสดงฤทธิ์

             ครั้งหนึ่ง พวกเศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์ พากันไปอาบน้ำในน้ำคงคา เพื่อชำระบาปตามประเพณี ได้ขึงตาข่ายไว้ในน้ำเพื่อป้องกันสัตว์ร้าย ในกาลนั้นได้มีปุ่มไม้จันทน์แดงขนาดประมาณเท่าบาตร ถูกคลื่นซัดลอยมาติดที่ตาข่าย

            ปุ่มไม้จันทน์แดงนั้นมีราคาแพง ราชคหเศรษฐีจึงคิดว่า ถ้ากระไร เราจะให้ช่างกลึงบาตรด้วยปุ่มไม้จันทน์แดงนี้ ใส่สาแหรกแขวนไว้ที่ปลายไม้ผูกต่อๆกันขึ้นไป แล้วจักประกาศว่า สมณะหรือพราหมณ์ผู้ใดเป็นพระอรหันต์และมีฤทธิ์ จงมาปลดบาตรที่เราให้ไปเถิด เมื่อช่างกลึงบาตรเสร็จก็นำไปแขวนไว้ตามความดำรินั้น

            ปูรณกัสสปะ ทราบข่าวเข้าไปหาท่านราชคหเศรษฐี กล่าวว่า อาตมานี้แหละเป็นพระอรหันต์และมีฤทธิ์ ขอท่านจงให้บาตรแก่อาตมาเถิด ท่านเศรษฐีตอบว่า ท่านเจ้าข้า ถ้าพระคุณเจ้าเป็นพระอรหันต์และมีฤทธิ์ ก็จงขึ้นไปปลดบาตรที่ข้าพเจ้าให้เถิด

            เวลาต่อมา มักขลิโคสาล อชิตเกสกัมพล ปกุธกัจจายนะ สัญชัยเวสัฏฐบุตร และ นิครนถ์นาฏบุตร ได้เข้าไปหาเศรษฐี พูดทำนองเดียวกันกับท่านปูรณกัสปะ ก็ได้รับคำตอบจากเศรษฐีเช่นเดียวกันอีกว่า ท่านเจ้าข้า ถ้าพระคุณเจ้าเป็นพระอรหันต์และมีฤทธิ์ ก็จงขึ้นไปปลดบาตรที่ข้าพเจ้าให้แล้วเถิด

            เช้าวันรุ่งขึ้น พระมหาโมคคัลลานะ กับพระปิณโฑลภารทวชะ เข้าไปบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ ได้ทราบข่าวนั้น พระปิณโฑลภารทวาชะจึงกล่าวกับท่านพระโมคคัลลานะว่า ไปเถิดท่าโมคคัลลานะ จงปลดบาตรนั้นลง บาตรนั้นเป็นของท่าน

            พระโมคคัลลานะ ก็กล่าวกับพระปิณโฑลภารทวาชะว่า ไปเถิดท่านภารทวชะจงปลดบาตรนั้นลง บาตรนั้นเป็นของท่าน ดังนั้น พระปิณโฑลภารทวชะ จึงเหาะขึ้นสู่เวหาส ถือเอาบาตรนั้นเวียนรองกรุงราชคฤห์ 3 รอบ

            ราชคหเศรษฐีพร้อมกับบุตรภรรยา ยืนอยู่ในเรื่องของตน เห็นดังนั้นจึงประคองอัญชลีนมัสการ กล่าวนิมนต์ว่า ท่านเจ้าข้า ขอพระคุณเจ้าโปรดลงมายังเรือนของข้าพเจ้าเพื่อรับภัตตาหารด้วยเถิด

            ครั้นแล้ว ท่านราชคหเศรษฐี รับบาตรจากมือของพระปิณโฑลภารทวชะ แล้วจัดภัตตาหารอันประณีตถวาย พระปิณโฑลภารทวาชะรับบาตรนั้นแล้วกลับไปสู่พระอาราม

            ชาวบ้านทราบข่าวว่าพระปิณโฑลภารทวชะ ปลดบาตรของราชคหเศรษฐีไปแล้ว จึงพากันติดตามพระปิณโฑลภารทวาชะไป พระผู้มีพระภาคเจ้าสดับเสียงอึกทึกเกรียวกราวจึงตรัสถามพระอานนท์ว่า นั่นเสียงอึกทึกเกรียวกราวเนื่องจากเหตุใด พระอานนท์ กราบทูลความให้ทรงทราบแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ ทรงติเตียนว่า ภารทวาชะ การกระทำของเธอนั่นไม่เหมาะ ไม่ควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ไฉนเธอจึงได้แสดงอิทธิปาฏิหาริย์แก่พวกคฤหัสถ์เพราะเหตุแห่งบาตรไม้จันทน์ ซึ่งเปรียบประดุจซากศพเล่า การกรทำของเธอไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของเหล่าชนที่ยังไม่เลื่อมใส ครั้งแล้วรับสั่งแก่ภิกษุทั้งหลายว่า พวกเธอไม่พึงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ อันเป็นคุณวิเศษของพระอริยะแก่พวกคฤหัสถ์ รับสั่งให้ทำลายบาตรไม้จันทน์แดงนั้น แล้วนำมาบดให้ละเอียด เพื่อใช้เป็นเภสัชของเหล่าภิกษุ

มีพระประสงค์จะแสดงยมกปาฏิหาริย์

            ต่อมา พระบรมศาสดามีพระประสงค์จะแสดงยมกปาฏิหาริย์ พระเจ้าพิมพิสารได้สดับดังนั้น จึงเข้าไปทูลถามว่า พระองค์ทรงห้ามมิให้ภิกษุแสดงปาฏิหาริย์ เหตุใดจึงมีพระประสงค์ที่จักแสดงด้วยพระองค์เอง พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า เราห้ามพวกภิกษุแต่มิได้ห้ามตัวเราเอง ยมกปาฏิหาริย์นี้ เป็นปาฏิหาริย์ของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

พระราชาทูลถามว่า  พระองค์จักทรงทำปาฏิหาริย์เมื่อใด พระเจ้าข้า

พระบรมศาสดาตรัสว่า  มหาบพิตร ในวันเพ็ญเดือน ๘ สี่เดือนต่อจากนี้ไป

พระราชาทูลถามอีกว่า  พระองค์จักทรงแสดงที่ไหน พระเจ้าข้า

พระบรมศาสดาตรัสว่า  ตถาคตจักแสดงที่กรุงสาวัตถี

มีคำถามว่า  เหตุใด พระบรมศาสดาจึงอ้างสถานที่ไกลเช่นนั้น

ตอบว่า  เพราะที่กรุงสาวัตถี เป็นสถานที่กระทำยมกปาฏิหาริย์ของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ อีกประการหนึ่ง ทรงทราบว่ามหาชนในสมาคมนั้นจักมีผู้บรรลุธรรมมากมาย

เดียรถีย์เตรียมแสดงปาฏิหาริย์แข่ง

            เหล่าเดียรถีย์ได้ฟังข่าวว่า ต่อจากนี้ไป ๔ เดือน พระสมณโคดมจักแสดงปาฏิหาริย์ ณ กรุงสาวัตถี จึงคิดว่าพวกเราจักตามไป แล้วบอกแก่มหาชนว่า เราก็จักแสดงปาฏิหาริย์แข่งกับพระสมณโคดม จึงชักชวนอุปัฏฐากได้ทรัพย์แสนหนึ่ง แล้วให้จัดสร้างมณฑปที่ชานกรุงสาวัตถี ประกาศว่าพวกเราจักแสดงปาฏิหาริย์เช่นกัน

            ต่อมา พวกเดียรถีย์ทราบความว่า พระบรมศาสดาจักแสดงปาฏิหาริย์ที่ควงไม้มะม่วง จึงสั่งการให้พวกศิษย์ของตนโค่นต้นมะม่วงรอบกรุงสาวัตถี โดยที่สุดแม้จะเพิ่งงอกในวันนั้น ในที่ระหว่างโยชน์หนึ่ง เว้นแต่ในพระราชอุทยานอันเป็นเขตหวงห้ามของพระราชา

            ในวันเพ็ญเดือน ๘ พระศาสดาเสด็จไปยังกรุงสาวัตถี ผู้รักษาอุทยานของพระราชาชื่อ คัณฑะ เห็นมะม่วงสุกผลใหญ่ผลหนึ่งอยู่บนต้น ในพระราชอุทยาน จึงไล่บรรดาวิหคที่มาชุมนุมด้วยความโลภในกลิ่นและรสแห่งมะม่วงนั้นให้หนีไป แล้วคิดจะนำผลมะม่วงสุกนั้นไปถวายแก่พระเจ้าปเสนทิโกศล ครั้งได้พบพระบรมศาสดาในระหว่าทาง นายคัณฑะคิดว่าหากเราถวายมะม่วงผลนี้แก่พระราชา พระองค์ก็คงจะพระราชทานกหาปณะแก่เราเพียง 8 หรือ 16 กหาปณะ ก็กหาปณะเท่านั้นไม่พอแก่การเลี้ยงชีพในอัตภาพหนึ่งของเรา แต่หากว่าเราถวายมะม่วงผลนี้แก่พระบรมศาสดา นั่นเป็นคุณที่จักนำประโยชน์เกื้อกูลมาให้แก่เราตลอดกาล นายคัณฑะจึงน้อมถวายมะม่วงผลนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า

            พระบรมศาสดาทรงรับบาตรจากพระอานนท์ โน้มบาตรเข้าไปรับผลมะม่วง และแสดงอาการจะประทับนั่ง พระอานนท์จึงปูอาสนะถวาย เมื่อพระองค์ประทับนั่งบนอาสนะนั้นแล้ว พระอานนท์กรองน้ำ ขยำมะม่วงสุกผลนั้นทำเป็นน้ำปานะถวาย พระผู้มีพระภาคเจ้าเสวยน้ำปานะนั้นแล้วตรัสกับนายคัณฑะว่า เธอจงขุดหลุม แล้วปลูกเมล็ดมะม่วงลงในหลุมนั้น

ประวัติคัณฑามพพฤกษ์

            พระบรมศาสดาทรงล้างพระหัตถ์ลงในหลุมเมล็ดมะม่วง ทันใดนั้น ต้นมะม่วงก็งอกขึ้นมา และเจริญเติบโต แผ่กิ่งก้านสาขาออกไปทันที มะม่วงต้นนั้นอุดมไปด้วยผลที่ยังดิบและผลที่สุกงอมแล้ว เหล่าภิกษุผู้ตามเสด็จ ก็ยังได้ฉันน้ำปานะที่ทำจากผลมะม่วงสุกนั้นเช่นกัน

            พระราชาทรงสดับข่าวว่า ต้นมะม่วงเห็นปานนี้เกิดขึ้นแล้วใกล้ประตูเมือง จึงสั่งตั้งการอารักขา มีพระดำรัสว่า ห้ามมิให้ผู้ใดทำลาย มะม่วงต้นนั้นจึงได้นามว่า คัณฑามพพฤกษ์ ตามนามของนายคัณฑะผู้ปลูก

ท้าวสักกะทำลายพิธีของเดียรถีย์

            ครั้งนั้น ท้าวสักกะทรงสั่ง วาตเทวบุตร ให้ถอนมณฑปของพวกเดียรถีย์เสียด้วยลม ทรงสั่ง สุริยเทวบุตร ให้ขยายมณฑลแห่งดวงอาทิตย์ให้เร่ร้อน แล้วสั่ง วาตเทวบุตร อีกว่า ท่านจงยังมณฑลแห่งลมให้ตั้งขึ้นไปเถิด เทวบุตรได้กระทำเช่นนั้น โปรยเกลียวธุลีลงบนสรีระของพวกเดียรถีย์ที่มีเหงื่อไหลด้วยแสงแห่งดวงอาทิตย์ เดียรถีย์เหล่านั้น ได้เป็นเช่นกับจอมปลวกแดง ท้าวสักกะจึงทรงสั่ง วัสสเทวบุตร ให้หยาดน้ำเม็ดใหญ่ๆตกลงมา ทีนั้น กายของพวกเดียรถีย์ได้เป็นเช่นกับแม่โคด่าง บังเกิดความละอายต่อเหล่าชนที่เฝ้าดูอยู่ ต่างพากันแตกหมู่หนีไป

            ชาวนาผู้หนึ่ง ซึ่งเป็นอุปัฏฐากของปูรณกัสสปะ คิดว่า บัดนี้เป็นเวลาทำปาฏิหาริย์แห่งพระผู้เป็นเจ้าของเรา เราจักไปดูปาฏิหาริย์นั้น จึงวางไถแล้วปล่อยโคให้ไปหากินโดยอิสระ ตนเองถือเอาหม้อยาคูและเชือกเดินมา ปูรณกัสสปะพบชาวนาผู้นั้นในระหว่างทาง ได้เอ่ยปากขอเชือกและหม้อยาคูของชาวนาผู้อุปัฏฐากนั้น เดินไปยังฝั่งแม่น้ำ ใช้เชือกผูกปากหม้อแล้วผูกเข้าที่คอตนเอง กระโดดลงไปในห้วงน้ำ ปูรณกัสสปะทำกาละไปบังเกิดในอเวจีแล้ว

            ครั้นเวลาบ่าย พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จดำเนินมายังสถานที่นั้น ด้วยทรงดำริว่า บัดนี้เป็นเวลาแสดงปาฏิหาริย์ จึงเข้าไปประทับภายใต้ร่มเงาของคัณฑามพพฤกษ์ เบื้องหน้าบริษัทที่มาประชุมกันมากมายจนนับจำนวนมิได้ เพื่อดูปาฏิหาริย์

สาวกสาวิกาอาสาแสดงปาฏิหาริย์แทน

            ครั้งนั้นอนาคามีอุบาสิกาชื่อ ฆรณี เข้าไปเฝ้าพระพุทธองค์ กราบทูลว่า เมื่ออุบาสิกาเช่นหม่อมฉันมีอยู่ กิจที่พระองค์ต้องลำบากย่อมไม่มี หม่อมฉันขอรับอาสาแสดงปาฏิหาริย์แทนพระองค์ พระเจ้าข้า

            พระพุทธองค์ตรัสถามว่า เธอจักแสดงเช่นไร

            อุบาสิกากราบทูลว่า หม่อมฉันจักทำผืนดินให้กลายเป็นผืนน้ำ แล้วจะดำลงไปแหวกว่าย เช่นเดียวกับนกน้ำทั้งหลาย แสดงตนให้เหล่ามหาชนเห็นว่าอานุภาพของหญิงยังเพียงนี้

            พระพุทธองค์ตรัสว่า ฆรณี เราย่อมทราบความที่เธอเป็นผู้สามารถแสดงปาฏิหาริย์เช่นนั้นได้ แต่ในครั้งนี้มิใช่วาระที่เธอจะต้องแสดงแทนเรา

            จากนั้น อุบาสกชื่อจุลอนาถบิณฑิกะ สามเณรีอายุ ๗ ขวบผู้บรรลุปฏิสัมภิทาชื่อจีรา สามเณรขีณาสพชื่อจุนทะ พระอุบลวรรณาเถรี และพระโมคคัลลานะเถระ ต่างก็รับอาสาแสดงปาฏิหาริย์แทนเช่นเดียวกัน

            พระพุทธองค์ตรัสว่า เราทราบอานุภาพของพวกเธอ แต่ในครั้งนี้มิใช่วาระที่พวกเธอจะต้องแสดงแทนเรา

            พระบรมศาสดาตรัสดังนั้นแล้ว เสด็จขึ้นสู่ที่จงกรม ทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์

ลักษณะของยมกปาฏิหาริย์

ยมกปาฏิหาริย์ คือ ปาฏิหาริย์ที่แสดงพร้อมกันเป็นคู่ อันเป็นปาฏิหาริย์เฉพาะของพระพุทธเจ้าทั้งหลายเท่านั้น

            ลักษณะของยมกปาฏิหาริย์มีดังนี้

เปลวไฟพลุ่งออกจากพระกายเบื้องบน สายธารพลุ่งออกจากพระกายเบื้องล่าง

                   เปลวไฟพลุ่งออกจากพระกายเบื้องล่าง สายธารพลุ่งออกจากพระกายเบื้องบน

                   เปลวไฟพลุ่งออกจากพระกายเบื้องหน้า สายธารพลุ่งออกจากพระกายเบื้องหลัง

                   เปลวไฟพลุ่งออกจากพระกายเบื้องหลัง สายธารพลุ่งออกจากพระกายเบื้องหน้า

                   เปลวไฟพลุ่งออกจากพระเนตรเบื้องขวา สายธารพลุ่งออกจากพระเนตรเบื้องซ้าย

                   เปลวไฟพลุ่งออกจากพระเนตรเบื้องซ้าย สายธารพลุ่งออกจากพระเนตรเบื้องขวา

โดยทำนองเดียวกันนี้ เปลวไฟและสายธาร พลุ่งออกจากเบื้องซ้ายและเบื้องขวาของช่องพระกรรณ ช่องพระนาสิก พระอังสะ พระหัตถ์ พระปรัศว์ พระบาท พระองคุลี ขุมพระโลมาแต่ละขุม และในพระวรกายส่วนอื่นๆของพระพุทธองค์ตั้งแต่พระศอลงไปจนถึงพระบาท

ในมธุรัตถวิลาสินี อรรถกถา พุทธวงศ์ หน้า ๙๙-๑๐๒ กล่าวไว้ว่า

เปลวไฟ พลุ่งออกด้วยอำนาจของ เตโชกสิณสมาบัติ

สายธาร พลุ่งออกด้วยอำนาจของ อาโปกสิณสมาบัติ

เปลวไฟและสายธาร พลุ่งออกจาทุกส่วนของพระวรกายโดยมิได้ปะปนกัน

ในขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค เล่มที่ ๗ ภาค ๑ หน้า ๑๐๙๑-๑๐๙๙ กล่าวว่า

พระฉัพพรรณรังสี  ซ่านออกจากพระวรกาย ในขณะที่ทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์ คือ

รัศมีสีเขียว       ซ่านออกจากพระเกสา พระมัสสุ และพระเนตร ดุจสีดอกอุบลเขียว

รัศมีสีเหลือง     ซ่านออกจากพระฉวี และพระเนตร ดุจสีดอกสุพรรณิการ์

รัศมีสีแดง         ซ่านออกจากพระมังสะ พระโลหิต ดุจสีดอกชัยพฤกษ์

รัศมีสีขาว         ซ่านออกจากพระอัฐิ พระทนต์ ดุจสีดอกมะลิซ้อน

รัศมีสีแสด        ซ่านออกจากฝ่าพระหัตถ์ ฝ่าพระบาท ดุจสีดอกทองกวาว

รัศมีสีเลื่อมประภัสสร  ซ่านออกจากพระอุณาโลม พระทาฐะ และพระนขา ดุจสีของดวงอาทิตย์แรกขึ้น

การอธิษฐานพระรัศมีของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น เมื่อต้องการรัศมีเขียว พระองค์ย่อมทรงเข้า นีลกสิณสมาบัติ เมื่อต้องการรัศมีสีเหลือง ย่อมทรงเข้า ปีตกสิณสมาบัติ เป็นต้น

เปลวไฟและสายธาร พลุ่งขึ้นไปจนถึงพรหมโลก แล้วไหลลามไปทั่วจักรวาล พระฉัพพรรณรังสี (รัศมี 6 ประการ) แผ่ออกไปจากห้วงแห่งจักรวาล จนจรดพรหมโลก

พระบรมศาดาทรงทราบวาระจิตของเหล่ามหาชนว่า บุคคลใดเลื่อมใสในธรรมใด ปาฏิหาริย์ใด ก็ทรงแสดงธรรมนั้น ปาฏิหาริย์นั้น ด้วยอำนาจอัธยาศัยแห่งบุคคลนั้นๆ

จากนั้น ทรงเนรมิตพระพุทธนิรมิต ซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับพระองค์ทุกประการ เว้นแต่อยู่ในอิริยาบถต่างกัน คือ

ขณะที่พระบรมศาสดาทรงจงกรม พระพุทธนิรมิตจัก ยืน หรือนั่ง หรือนอน

ขณะที่พระบรมศาสดาประทับยืน  พระพุทธนิรมิตจัก จงกรม หรือนอน หรือนั่ง

ขณะที่พระบรมศาสดาประทับนั่ง  พระพุทธนิรมิตจัก จงกรม หรือยืน หรือนอน

ขณะที่พระบรมศาสดาทรงไสยาสน์  พระพุทธนิรมิตจัก จงกรม หรือยืน หรือนั่ง

เมื่อเสร็จสิ้นการแสดงยมกปาฏิหาริย์ และการแสดงธรรมแล้ว ธรรมาภิสมัยได้มีแก่สัตว์โลกที่มาประชุมกัน ๒๐ โกฏิ ในสมาคมนั้น

 

 

เรียบเรียงจากหนังสือ พระพุทธประวัติ โดย สุรีย์ มีผลกิจ

Go to Top

กลับไปที่ภาพชุดที่ ๔

ชุด๔ ภาพที่ ๑ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์
ภาพที่ ๑ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ ในวันเพ็ญ เดือน ๓ ในที่ประชุมพระภิกษุ ๑๒๕๐ รูป

             พระโอวาทปาฏิโมกข์ เป็นธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์ ทรงแสดงในที่ประชุมสงฆ์ ในวันมาฆบุรณมี วันเพ็ญ เดือน ๓ การประชุมกันของสาวก ที่เป็น จาตุรงคสันนิบาต ในสมัยของพระผู้มีพระภาคเจ้าของเราทั้งหลายพระองค์นี้ มีเพียงครั้งเดียว คือในปีแรกหลังจากตรัสรู้แล้ว ๙ เดือน ณ พระเวฬุวันวิหาร กลันทกนิวาปสถาน ในวันมาฆบุรณมีเวลาบ่าย ทรงกระทำวิสุทธิอุโบสถ แล้วทรงแสดงพระโอวาทปาฏิโมกข์ในที่ประชุมสงฆ์ ซึ่งมีจำนวนภิกษุ ๑๒๕๐ รูป อันได้แก่ปุราณชฎิล ๑๐๐๐ รูป และบริวารของพระอัครสาวก ๒๕๐ รูป

                                         โอวาทปาฏิโมกข์
                             ชนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา
                             นิพฺพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทฺธา
                             น หิ ปพฺพชิโต ปรูปฆาตี
                             สมโณ โหติ ปรํ วิเหฐยนฺโต.

                             สพฺพปาปสฺส  อกรณํ                       กุสลสฺสูปสมฺปทา
                             สจิตฺตปริโยทปนํ                            เอตํ  พุทฺธานสาสนํ.
                             อนูปวาโท อนูปฆาโต                      ปาฏิโมกฺเข จ สํวโร
                             มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมิ                    ปนฺตญฺจ  สยนาสนํ
                             อธิตฺเต จ อาโยโค                          เอตํ พุทฺธานสาสนํ.

 

                             แปลว่า  ขันติคือความอดกลั้นเป็นตบะอย่างยิ่ง

                             พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสพระนิพพานว่าเป็นยอด

                             ผู้ทำร้ายผู้อื่นไม่จัดว่าเป็นบรรพชิต

                             ผู้เบียดเบียนสัตว์อื่นไม่ชื่อว่าสมณะ

การไม่ทำบาปทั้งปวง ๑  การทำกุศลให้ถึงพร้อม ๑  ความยังจิตให้ผ่องแผ้ว ๑

ธรรม ๓ ประการนี้ เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

การไม่ว่าร้าย ๑  การไม่ทำร้าย ๑ ความสำรวมในพระปาฏิโมกข์ ๑

ความเป็นผู้รู้ประมาณในโภชนะ ๑  การอยู่ในที่นั่งที่นอนอันสงัด ๑

การประกอบความเพียรในอธิจิต ๑

ธรรม ๖ ประการนี้ เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

เรียบเรียงจากหนังสือ พระพุทธประวัติ โดย สุรีย์ มีผลกิจ

Go to Top

กลับไปที่ภาพชุดที่ ๔